
พอออกเดินทางจากภูผาบิ้งมาพักอยู่ที่ตำบลหนึ่ง ชาวบ้านบอกเล่าเหตุการณ์ที่แปลกประหลาด คือเมื่อคืนนี้มีหมอกไหลผ่านไปในสวนใบยา ใบยาร่วงโรยไปหมด อีกครั้งหนึ่งที่อำเภอเถิน ลำปาง ชาวบ้านได้รองน้ำฝนมีสีชากินตายไปสิบกว่าคน ทั้งสองเรื่องที่ได้ฟัง รู้สึกว่าแปลก เพราะตรงกับเรื่องที่ได้เคลิ้มฝัน
ต่อจากนั้นได้เดินทางไปอำเภอวังสะพุง แล้วเดินทางขึ้นภูกระดึงไปพักอยู่ที่ตีนเขาหนึ่งคืน มีลูกศิษย์ติดตามไปด้วย คือเด็กสองคน พระสามองค์ได้เดินทางขึ้นภูกระดึง ถึงสันแปเวลาประมาณหนึ่งทุ่ม เดินจากสันแปไปที่พักราวสามกิโลเมตรเศษ เมื่อขึ้นถึงยอดเขาอากาศเย็นเฉียบ หนาว มีป่าสน วันนั้นพอปีนถึงยอดเขาฝนก็ตก จึงพากันเดินหาที่พัก เห็นขอนต้นสนต้นหนึ่งล้มอยู่ในป่าหญ้าก็ได้ขึ้นนอนบนขอน มีทั้งฝนทั้งลม คืนนั้นเป็นอันไม่ได้หลับนอน พระเณรหนีไปหลบอยู่ทีอื่น พอสว่างขึ้นก็เดินหากัน เมื่อได้พบกัน แล้วได้ไปหาที่พัก พบถ้ำเล็กๆ แห่งหนึ่งมีลานหินสวยงาม มีบ่อน้ำเล็กๆ บ่อหนึ่ง ฝนตกลงมาคืนนั้นน้ำเต็มบ่อพอดี ได้อยู่วิเวก ดูสถานที่ใหญ่กว้าง มีต้นสนมาก มีหญ้าหนา มีความยาวประมาณเจ็ดกิโลเมตร กว้างประมาณเจ็ดกิโลเมตร เมื่อขึ้นไปบนนั้นรู้สึกราวกับว่าเราอยู่บนพื้นดิน แต่ต้นไม้อื่นไม่เกิด มันเกิดอยู่ตามเชิงเขา สันนิษฐานว่าเป็นเพราะบนยอดเขานี้เป็นพลาญหินเสียโดยมาก เพราะสังเกตดูต้นสนที่ล้มลง รากต้นสนแหย่ลงตามซอกหิน
สถานที่นี้อยู่วิเวกสงัดสบายดี ถึงเวลาประมาณบ่ายห้าโมง วันไหนฝนไม่ตก พากันออกมานั่งสมาธิบนลานหิน นึกว่าเราไม่อยากกลับเมืองมนุษย์อยากอยู่ตามป่าตามดงอย่างนี้ ถ้าสามารถเป็นไปได้ ขอให้ข้าพเจ้าสำเร็จในทางอิทธิฤทธิ์ ถ้าไม่สำเร็จขอให้สิ้นภายในกำหนดเจ็ดวัน ขอให้นิพพานในวันที่เจ็ด มิฉะนั้นขอให้เทพเจ้าชักจูงให้ไปอยู่วิเวกห่างชุมนุมชนสักสามปี เมื่อคิดเช่นนี้ คิดยังไม่เสร็จฝนตกลงมาทุกที จึงต้องกลับเข้าถ้ำ
มีเพื่อนพระองค์หนึ่ง ชื่อพระปลัดศรี ไม่เคยเดินดงไปไหน ระหว่างทางชอบขายข้าวขายของ เราก็รำคาญ คือท่านชอบคุยในเรื่องทางโลกมาก เมื่อเดินทางไปพบบ้านใดกันดาร ก็เอาเรื่องลพบุรีมีปลาชุมมาเล่าให้ชาวบ้านฟัง เล่าว่าปลาร้าลพบุรีส่งไปขายถึงจังหวัดชัยภูมิ ได้ฟังแล้วรู้สึกรำคาญใจ เพราะเราไม่ได้มาค้าขาย มาปลีกวิเวก ต้องคอยเตือนเสมอ แต่ท่านมีพรรษามากกว่าเรา เมื่อขึ้นไปอยู่บนเขาก็ชอบก่อไฟ ผิงไฟ เวลาเรานอน ถ้าเราหลับไม่นอนก็ไม่กล้าผิงไฟแล้วก็คุยกัน มีนายมั่นกับนายมนูร่วมวงด้วย
อยู่ได้หลายวันชักจะไม่สงบ วันแรกสบายดี ไม่มีใครพูดคุยกัน เพราะกลัวเสือ ช้าง เพราะเขานี้มีเสือและช้างมาก ได้พักอยู่ห้าคืน พอดีข้าวสารหมด จึงเตรียมการเดินทางกลับ
เมื่อลงจากเขาแล้ว ได้นั่งพักอยู่พื้นราบ มีลูกน้องของฝรั่งเอาเสื่อมาปูนิมนต์ให้นั่ง เราไม่นั่งจึงนิมนต์ปลัดศรีไปนั่ง ท่านไปนั่งได้สักครู่ได้ยินเสียงฟ้าร้องทั้งๆ ที่มีแดด พร้อมๆ กับเสียงฟ้าร้อง กิ่งไม้รังก็หักลงจากต้นใกล้ศีรษะพระปลัดศรีประมาณหนึ่งคืบ ปลัดศรีหน้าเสียรีบลุกขึ้น เราจึงพูดว่า นั่นแหละการไม่สำรวม มักมีเหตุ ตั้งแต่นั้นมาพระปลัดศรีเลยเป็นผู้สงบ
ต่อจากนี้ได้เดินทางมาพักอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใกล้ผานกเค้า ตกเวลาค่ำดึกสงัด ลูกศิษย์เหนื่อยอ่อน พอตกดึกได้ยินเสียงเดินบุกป่าบุกดง รุ่งขึ้นได้ถามพระที่ไปด้วยว่า เมื่อคืนทำอะไรกัน ได้รับตอบว่า ขโมยกินน้ำตาลของหลวงพ่อ หาบมาหลายวันไม่เห็นฉัน เลยต้มกินกันหมด เมื่อฉันจังหันแล้วพากันออกเดินทางข้ามดงใหญ่ เดินมาได้หนึ่งกิโลเมตร ก่อนจะออกเดินทางได้ตั้งใจไว้ว่า เราจะขี่รถของเราเองให้ถึงอำเภอชุมแพ ซึ่งอยู่ห่างจากที่พักประมาณแปดสิบกิโลเมตร ว่าเราจะไม่ยอมขึ้นรถ จะเที่ยววิเวกไปตามป่า คิดอยู่ไม่กี่อึดใจก็มีรถยนต์คันหนึ่งวิ่งสวน เลยไปจอดอยู่ข้างหน้าประมาณ 4-5 เส้น เห็นผู้หญิงวิ่งมาจากรถ บอกว่า ขอนิมนต์ขึ้นรถๆ เพิ่งซื้อใหม่ มองดูหน้าพระเณรล้วนอยากขึ้น แต่เราไม่พาขึ้น เขาอ้อนวอนอยู่นานก็ไม่ยอมขึ้น พวกเราพากันแบกกลด สะพายบาตรเดินไปทั้งร้อนทั้งแดด เดินไปประมาณ 4 กิโลเมตร เห็นเขามีศาลเจ้าอยู่ข้างหน้า จึงหยุดพักตรวจดูถ้ำ มีหญิงอุ้มลูกมาคนหนึ่ง สะพายตะกวดมา 3 ตัววางไว้ใกล้ที่เราพัก นึกอยากบิณฑบาตตะกวดกับแก แต่ไม่กล้าออกปาก พักอยู่ครู่หนึ่งมีรถ ร.ส.พ. วิ่งมาจากเลย ได้รับเอานายมั่น กับปลัดศรีติดรถมาด้วย คนขับรถกระโดดลงจากรถวิ่งมาหา เขาพูดว่า เห็นท่านเดินถนนหลายวันแล้ว ขอนิมนต์ขึ้นรถ เขาได้อ้อนวอนอยู่หลายนาทีและบอกว่า ไม่คิดค่ารถทั้งหมดรวมทั้งลูกศิษย์ด้วย ลูกศิษย์ต่างเดินอยู่ข้างหน้าก็มี ข้างหลังก็มี จึงตอบว่าขอบใจ ฉันไม่ขึ้น ลูกศิษย์เลยต้องพากันลงจากรถ เดินทางผ่านเข้าดงลาน ดงนี้เป็นป่าดงดิบ
พอถึงเวลาประมาณบ่ายห้าโมง พระปลัดศรีก็เกิดเป็นโรคบิด จึงได้อนุญาตให้ขึ้นรถไปพักคอยที่อำเภอชุมแพ นายมั่นก็เดินไม่ไหว ก็ได้อนุญาตให้ขึ้นรถไปด้วย ตกลงวันนั้นเดินด้วยกันสามคนคือ เรา พระจูม และนายมนู เด็กชาวอุตรดิตถ์ มาถึงที่พักเป็นเวลามืดประมาณสองทุ่ม เรียกว่าบ้านกระทุ่ม หาที่พักลำบาก ได้ไปพักในป่าใกล้น้ำแห่งหนึ่ง ตื่นเช้าบิณฑบาตในบ้าน ฉันแล้วเดินทางต่อ เดินมาได้หนึ่งกิโลเมตร กำลังแดดจัดนั่งพักอยู่ร่มไม้แห่งหนึ่งพอสมควร เวลาประมาณห้าโมงเย็น ฟ้ามืดครึ้มคล้ายฝนจะตก ศิษย์ที่เป็นเด็กเหนื่อยเต็มที่ ไม่ยอมไปพักในป่า ขอตัวจะขึ้นรถไปขอนแก่นก่อน แต่เมื่อเรียกรถทุกคันก็ไม่มีคันใดหยุดรับ สักครู่หนึ่งเกิดมีพายุลมฝนตกใหญ่ เด็กได้เข้าอาศัยพักในบ้านโยม แต่บ้านหลังนั้นได้ถูกลมพัดหลังคาเปิด ตัวเองกับพระจูมเดินทางพักข้างทางรถยนต์ เห็นกระต๊อบหลังหนึ่งกว้างประมาณหนึ่งเมตร ยาวสองจุดห้าเมตร มุงด้วยหญ้าคา ฝนตกหนักพายุแรงพัดกิ่งต้นรังขาด ได้ชวนพระจูมพักที่กระต๊อบ
ท่านจูมกั้นกลดพักอยู่ได้หลังคากระต๊อบซีกหนึ่ง อีกซีกหนึ่งเรายืนพักอยู่ ลมพัดมาอย่างแรงหลังคาซีกที่ท่านจูมกั้นกลด ลมพัดตีปลิวไปกลางทุ่ง ครู่เดียวต้นเต็งรังหักฟาดลงมา ท่านจูมได้วิ่งมาหาเรา กระต๊อบนั้นอาศัยไม่ได้ ได้วิ่งไปพักใต้กอเบญจมาศ หมอบอยู่อย่างสบาย ทั้งหนาวทั้งสั่นประมาณหนึ่งชั่วโมง ลมเงียบ ฝนหยุดตก ผ้าผ่อนเปียกปอน ได้หากระต๊อบพบอีกหลังหนึ่ง จึงก่อไฟขึ้นแล้วนอนอยู่ในกระต๊อบ
ตอนกลางคืนฝนตกลงมาอีก รุ่งขึ้นก็เดินทางมาอำเภอชุมแพ ส่วนเด็กที่ติดตามเดินไม่ไหว ได้ส่งขึ้นรถไปคอยอยู่ชุมแพ จึงต้องเดินทางกับพระจูมเพียงสององค์ เวลาตอนเย็นประมาณห้าโมง ถึงอำเภอชุมแพ พระปลัดศรีเป็นบิดยังไม่หายดี หน้าซีดเซียว แล้วได้พักอยู่ที่นั่นจนสบายพอสมควร ได้ทราบข่าวการจัดงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จฯ ว่าจะจัดทำในเร็วๆ นี้ จึงออกเดินทางจากขอนแก่นโดนขบวนรถเร็วถึง กทม. ราวเดือนเม.ย. 2497
มาถึงวัดบรมนิวาส คณะสงฆ์ได้หารืองานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จฯ วันนั้นได้มีการประชุมพระเถระชั้นผู้ใหญ่รวม 11 รูป ตั้งคณะกรรมการดำเนินงานนี้ พอเสร็จเรียบร้อยแล้วไปประชุมที่หอเขียว มีสมาชิกสมาคมอีสานไปร่วมประชุมกันประมาณ 100 คน นายเลื่อน บัวสุวรรณเป็นประธาน พอผ่านขึ้นหอเขียว ได้เห็นพระธรรมปิฏกและพระธรรมดิลก นั่งอยู่ในที่ประชุมด้วย ไม่ได้พูดอะไรเลย ได้ยินแต่หมอฝน แสงสิงห์แก้วพูด เรายืนฟังอยู่ข้างนอก แต่การที่พูดกันในที่ประชุมนั้น เราไม่พอใจ คือเขาวางนโยบายเก็บเงินไปสร้างโรงพยาบาลโรคจิตให้หมอฝน ที่อุบลราชธานี ในนามสมเด็จฯ จึงได้เข้าไปนั่งบนเก้าอี้ ขอโทษที่ประชุมแล้วกล่าวว่า เรื่องที่สนทนานี้ ผมเสียใจ ผมปฏิบัติสมเด็จฯ มาสามปี ตายไปแล้ว 100 กว่าวัน ครูบาอาจารย์และพวกสมาคมมานั่งฟังอยู่ ผมไม่ได้ยินว่าได้ปรารภเพื่อทำงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จฯเลย ทางโรงพยาบาลนั้น ผมฟังดูว่าได้ตั้งงบประมาณ 7 แสนบาท แต่งบประมาณของสมเด็จฯ ไม่เห็นมีใครตั้ง ผมเสียใจมาก ขอโอกาสพูดด้วย
พอพูดเสร็จแล้วหมอฝนพูดว่า เรื่องนี้ได้เรียนจอมพลผินแล้วว่าเงินไม่พอ อยากเก็บเงินในงานนี้ไปสบทบ ท่านจึงได้อนุโมทนามาหนึ่งหมื่นบาท จึงได้พูดเรื่องนี้ขึ้น เลยตอบไปว่า ผิน ผันไม่รู้ ไม่ใช่เรื่องโรงพยาบาล แต่เป็นเรื่องศพ ได้ยินดังนี้หมอฝนก็ลุกหนีไป นายเลื่อนนั่งนิ่งพูดว่า เมื่อเป็นดังนี้ อาจารย์ว่าอย่างไร เจ้าคุณธรรมดิลก เจ้าคุณญาณฯ นั่งนิ่งกันหมด เขาถามอีกว่า อาจารย์จะให้ทำอย่างไร จึงได้ตอบเขาว่า เรื่องโรงพยาบาลไม่รังเกียจ ขอเอาไว้พูดทีหลัง เพราะศพสมเด็จฯ ยังเหม็นอยู่ ควรทำเสียก่อน เมื่อพูดจบแล้ว คุณนายตุ่นฯ ยกมือเห็นด้วยอยู่ข้างหลัง ได้ให้ที่ประชุมบันทึกการประชุมไว้รวม 3 ข้อดังนี้
1. เงินจะได้มาโดยวิธีใด ขอให้รวบรวมทำศพสมเด็จฯ เสียก่อน จนเป็นที่พอใจคณะกรรมการ
2. เมื่อมีเงินเหลือจาการทำศพ ให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณามอบหมายเงินก้อนนี้ไปให้โรงพยาบาลต่อไป
3. ไม่ต้องให้เลยก็ได้
เมื่อได้บันทึกเสร็จแล้ว ได้มีคนๆ หนึ่งถามขึ้นว่า ศพนี้ใครจะเป็นคนจัดการ ก็ไม่มีพระองค์ใดตอบ จึงได้ตอบแทนว่า คณะสงฆ์วัดบรมฯ เป็นผู้ดำริทำ มหาวิเชียรฯทำงานอยู่กระทรวงวัฒนธรรมได้พูดขึ้นว่า ท่านเป็นพระ ท่านจะทำศพ ท่านจะใช้จ่ายเงินได้อย่างไร จึงได้ตอบเขาว่า มือของฉันมีมาก กลัวแต่จะไม่มีเงินเก็บ ฉันเก็บไม่ได้ใช้ไม่เป็น ศิษย์ของฉันก้อมี ได้ฟังดังนี้ มหาวิเชียรเลยเงียบ
ในที่สุดวันนั้นจึงได้เสนอว่าคณะกรรมการเก่าขอยกเลิก ขอตั้งใหม่มอบให้เจ้าคุณธรรมปิฎกเป็นประธาน แล้วก็เลิกประชุม
รุ่งเช้าวันหนึ่ง ได้เดินผ่านท่านเจ้าคุณธรรมปิฎก ท่านได้เรียกเข้าไปในห้องและบอกว่า ผมจะบอกอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องสมเด็จฯ เพราะผมปิดเป็นความลับ ท่านพูดต่อไปว่า
1. สมเด็จฯ สั่งให้ผมเป็นผู้จัดการฌาปนกิจศพท่านเมื่อท่านมรณภาพไปแล้ว
2. ท่านมอบหมายเครื่องบริขารให้เป็นสิทธิของผม
3. ให้ช่วยปกครองดูแลพระเณรคณะวัดบรมฯ
ก็ตอบท่านว่า " ดีมาก "
ต่อมาได้เปิดเผยเรื่องคำสั่งของท่านสมเด็จฯ ในที่ประชุมคณะสงฆ์จึงได้มอบกิจการถวายท่านเจ้าคุณธรรมปิฏก ก่อนออกจากที่ประชุมได้พูดขึ้นอีกคำหนึ่งว่า ขอโทษพระเดชพระคุณ เมื่อวานผมหมั่นไส้ ทนไม่ไหว เวลาสมเด็จฯ ยังมีชีวิตอยู่ ไม่เคยมีใครพูดเรื่องโรงพยาบาลของท่าน เวลาท่านตายก็ไม่พูดเรื่องทำศพ กลับมาพูดเรื่องโรงพยาบาล ถ้าผมได้พูดไปไม่ดี ไม่ถูก เป็นการเสียหาย ผมจะขอลาออกหนีจากวัด ไม่ขอเกี่ยวข้องในงานศพครั้งนี้ เจ้าคุณธรรมปิฎกจึงได้อ้อนวอนไม่ให้ไป แล้วพูดว่า ที่ท่านอาจารย์พูดนั้นไม่ผิด จึงเป็นอันได้ร่วมมือร่วมใจกันทำงานครั้งนี้ไปจนสำเร็จ
อีกไม่ช้าก็ได้จัดเตรียมงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จฯ ที่วัดพระศรีมหาธาตุ อำเภอบางเขน ซึ่งท่านได้เคยเป็นสมภารคนแรกในการสร้างวัดนี้ วัดนี้เป็นวัดที่คณะรัฐบาลได้จัดสร้างขึ้น เมื่องานได้ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว ได้ออกไปจำพรรษาอยู่ที่นาแม่ขาวที่เรียกว่า วัดอโศการาม ทุกวันนี้
ที่ตั้งวัดอโศการามนี้ เดิมเรียกว่า นาแม่ขาว เจ้าของที่ดินคือ นางกิมหงษ์ และนายสุเมธ ไกรกาญจน์ ได้ถวายที่ดินให้สร้างวัดมีเนื้อที่ประมาณ 53 ไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2497 จนกระทั่งปี 2498 จึงได้ตั้งสำนักเป็นครั้งแรก โดยให้พระลูกศิษย์คือ พระครูใบฎีกาทัศน์ มาเฝ้าสำนักแทน พร้อมทั้งพระลูกศิษย์อีก 5 รูป รวมที่พระที่สำนักนี้ในครั้งนี้เริ่มตั้งจำนวน 6 รูป
เมื่อออกพรรษาและได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จฯ เรียบร้อยแล้ว ปีพ.ศ. 2498 จึงได้ออกไปจำพรรษาที่วัดอโศการาม ในระหว่างนี้ได้เริ่มคิดดำริจัดงานฉลองสมโภช 25 พุทธศตวรรษในปี พ.ศ. 2500 การดำริในเรื่องนี้ได้ดำริมานานปีแล้ว คือตั้งแต่ปีที่ได้เดินทางออกมาจากดงบ้านผาแด่นแสนกันดาร
ในระหว่างที่คิดดำริจะจัดงานฉลองสมโภช 25 พุทธศตวรรษอยู่นี้ ได้เที่ยววิเวกไปตามสถานที่ต่างๆ วันหนึ่งได้ไปตั้งสัจจอธิษฐานอยู่ที่ถ้ำพระสบาย อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ได้ตั้งปัญหาขึ้นว่า "งานที่จะทำครั้งนี้เป็นงานใหญ่ แต่เราไม่มีสมบัติอะไร จะทำดีหรือไม่ดีหนอ ขอพระธรรมเจ้าจงบันดาลให้ปรากฏทราบในใจ มิฉะนั้นก็ขอให้เทพเจ้าผู้ปกปักรักษาประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเทวดาผู้คุ้มครองรักษาพระแก้วมรกต อันเป็นมิ่งขวัญของคนไทยทั้งหมด จงช่วยกันบันดาลบอกช่องทางให้แก่ข้าพเจ้าด้วย"
อยู่มาวันหนึ่ง ได้เข้าไปในถ้ำลึกอยู่หลังถ้ำพระสบายเข้าไป จุดไฟตะเกียงรั้วไว้หน้าพระพุทธรูป ตรงหน้าพระพุทธรูปปูด้วยกระดาน ส่วนตัวเจ้าของเองไปนั่งบนก้อนหินใหญ่ หันหน้าเข้าฝาในถ้ำ จุดไฟสว่างไว้ตลอดคืน แล้วก็ตั้งอธิษฐานความดำริในใจ
คืนนั้นเวลาประมาณตีสอง จิตใจก็สบายดี ได้มีเหตุการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้น มีเสียงดังเกรียวกราวลงหน้าพระพุทธรูป ฟังดูไม่ใช่เสียงหิน แต่เป็นเสียงกระจกแตก รอสักครู่หนึ่งจึงได้ลุกขึ้นมาดู เดินรอบๆ สังเกตดูห่างจากตัวประมาณ เจ็ด ศอก แสงไฟก็สว่างทั้งถ้ำ เพราะถ้ำเล็กมีความกว้างเพียง 4 วาเศษเป็นวงกลม สูงประมาณ 10-15 เมตร มีช่องทะลุขึ้นไปบนอากาศ เดินดูรอบๆ แล้วก็ไม่เห็นอะไรเลย จึงกลับเข้าที่เดิมนั่งสมาธิต่อไป ได้นั่งเคลิ้มฝันไป ปรากฏเป็นเทพเจ้ามาพูดบอกว่า " เรื่องการทำงานฉลองสมโภช 25 พุทธศตวรรษนี้ ท่านไม่ต้องคิด แต่ท่านต้องทำ จะทำเมื่อไรต้องสำเร็จ " หลังจากนั้นมาก็มิได้วิตกเรื่องนี้เท่าไรนัก ได้พักวิเวกอยู่เป็นเวลาพอสมควร
ในการมาถ้ำพระสบายคราวนี้ ก่อนจะกลับจากถ้ำ ได้ปรารภถึงเรื่องต้นโพธิว่าอยากได้ต้นโพธิสักสามต้น มาปลูกไว้ที่ถ้ำนี้
ต่อมาได้เดินทางกลับลพบุรี ไปพักอยู่ที่วัดเขาพระงาม พอดีเป็นเวลาตรงกับวันมาฆบูชา จึงได้ชักชวนญาติโยมชาวพระนครและลพบุรี ทำพิธีมาฆบูชาเป็นเวลาสามวัน ได้แสดงธรรมะให้แก่พวกคณะทหารประมาณสามร้อยคน ที่มาทำการเวียนเทียนในคืนนั้นเสร็จแล้วได้เข้าสมาธิอธิษฐานจิตว่า เรื่องงานฉลองสมโภช 25 พุทธศตวรรษนั้น ไม่ทราบว่ามันเป็นอย่างไรรู้สึกข้องใจอยู่ แล้วจึงได้ตั้งอธิษฐานขอถวายชีวิตในวันที่ 15 ค่ำ คือไม่ฉันจังหัน ถวายตาคือไม่ยอมหลับ พากเพียรพยายามอยู่อย่างนั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์อันใด
ถึงเวลาจวนสว่างประมาณตีห้า ได้เคลิ้มฝันไปครู่หนึ่งได้เห็นแผ่นดินแยกออก มองลึกลงไป เห็นก้อนอิฐสีแดงๆ หักพังเกลื่อนกลาดทับถมอยู่ใต้ดิน ก็สำนึกขึ้นว่า นี่คือสถานที่บรรจุพระบรมธาตุในสมัยก่อน ได้ผุพังจมดินลงไปมากแล้ว ฉะนั้นท่านต้องเป็นผู้อุปการะช่วยเหลือสร้างพระเจดีย์เพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุต่อไป ภายหลังงานฉลองสมโภช 25 พุทธศตวรรษ มิฉะนั้นจะไม่หมดกรรมหมดเวร แล้วได้เคลิ้มฝันต่อไปอีกครั้งหนึ่งว่า
ในสมัยครั้งก่อนโน้น พระสงฆ์มีธุระประชุมใหญ่กันในประเทศอินเดีย เมื่อได้นัดหมายกันเรียบร้อยแล้ว ตัวเราไม่ได้ไปประชุมกับหมู่คณะ การประชุมนี้เนื่องด้วยการฉลองสมโภชพระบรมธาตุของพระบรมศาสดา ซึ่งเป็นงานสำคัญยิ่ง แต่เราไม่ได้ไปประชุม เพื่อนๆ จึงลงโทษว่า ต่อไปท่านต้องเป็นผู้อุปการะรวบรวมพระบรมธาตุบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์แห่งใดแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัทต่อไป
เมื่อเคลิ้มฝันได้ดังนั้นแล้ว การดำริที่จะทำงานสมโภช ฯ ก็หนักเข้ามาทุกที
อยู่มาวันหนึ่งเวลาจวนสว่างๆ จึงได้ตั้งอธิษฐานในใจว่า ถ้าข้าพเจ้าจะทำการฉลองสมโภชฯ ให้สำเร็จด้วยดี ขอจงให้พระบรมธาตุที่มีอยู่ในตัวข้าพเจ้านี้ขอให้บังเกิดมีให้ครบจำนวน 80 องค์ มีอยู่ขณะนั้นประมาณ 60 องค์เศษเท่านั้นเมื่ออธิษฐานเสร็จ สว่างแล้ว ฉันจังเสร็จก็เปิดผอบออกนับดู ปรากฏว่ามีพระบรมธาตุครบ 80 องค์บริบูรณ์
ต่อมาในคืนที่สอง ก็ได้ขึ้นไปนั่งสมาธิอยู่บนพระพุทธรูปใหญ่เชิงเขา คืนนั้นมิได้นอน นั่งสมาธิเดินจงกรมอยู่รอบๆ พระพุทธรูปแล้วก็ได้จัดตั้งพานไว้พานหนึ่งพร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียน ทำการอธิษฐานว่า "ถ้ามีการฉลองสมโภชฯ จะสำเร็จ ขออัญเชิญพระบรมธาตุให้เสด็จมาเพิ่มเติมอีก จะเสด็จมาจากไหนก็ตาม พอรุ่งสว่างก็ได้พระบรมธาตุประมาณ 10 องค์ เล็กๆ มีพลอยสีแดงปนอยู่ด้วย ก็รีบจัดเก็บเข้าภาชนะ ไม่บอกให้ใครทราบ แต่นึกว่าเราคงทำงานครั้งนี้สำเร็จ
ในปีนั้นได้เดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดอโศการามเป็นปี พ.ศ. 2499
เมื่อออกพรรษาแล้ว ได้ทราบข่าวว่าได้ปรากฏมีต้นโพธิ์เกิดขึ้นหน้าถ้ำพระสบาย อำเภอแม่ทะ ลำปาง รวมสามต้น สวยงามเพราะขึ้นอยู่บนแท่นหิน ปัจจุบันนี้สูงประมาณแปดศอก
ในระหว่างจำพรรษาปีพ.ศ. 2499 ที่วัดอโศการาม ความดำเรื่องจัดงานฉลองสมโภชฯ ก็หนักแน่นเข้าทุกทีๆ แต่ขณะนั้นยังไม่ตกลงใจว่าจะทำงานนี้ที่ไหนแน่ เพราะเป็นงานใหญ่ไปๆ มาๆ ก็เลยตัดสินใจว่า ต้องทำที่วัดอโศการาม การทำงานนั้นมีอยู่สองอย่างคือ
1. พร้อมเพรียงกันกับพุทธบริษัททั้งหลายจัดทำขึ้น
2. ทำด้วยลำพังตนเองคนเดียว
1. ทำพร้อมกับพุทธบริษัทนั้นมี สาม ชั้นคือ
ชั้นต่ำ
ชั้นกลาง
ชั้นสูงสุด
ความดำรินี้ไม่ได้บอกใคร เป็นแต่ตั้งข้อสังเกตในการทำไว้คนเดียวเฉยๆ
เมื่อได้ทำงานสมโภชฯ สำเร็จเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่า การทำงานครั้งนี้ตกอยู่ในชั้นกลางเท่านั้น ถ้าหากทำได้ถึงชั้นสูงสุดจะไปสร้างฉัตรถวายพระพุทธรูปใหญ่ที่เขาพระงาม ในที่สุดก้อไม่สำเร็จถึงชั้นสูงสุด
2. ทำด้วยลำพังตัวเองคนเดียว ๆ นั้นดีมากที่สุด แต่ไม่เกิดประโยชน์แก่ปวงชน การกระทำอย่างนี้มีสามวิธีคือ
วิธีที่หนึ่ง อย่างชั้นต่ำต้องปลีกตัวหนีจากมนุษย์ หลบอยู่ในป่าดงถึง สามพรรษา จึงจะออกมาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ได้
วิธีที่สอง อย่างชั้นกลาง ต้องเข้าไปอยู่ในป่าลึกโดยลำพัง ทำความพากเพียรจนครบไตรมาส สามเดือน ไม่กังวล
วิธีที่สาม อย่างสูงสุด ต้องเอาผ้าแดงผูกคนตัวเองไว้ 7 วัน คือ หมายความว่าภายในเจ็ดวันนี้ จะพยายามสร้างความดี 2 ชนิดคือ
ชนิดที่หนึ่ง ขอให้สำเร็จวิชชา 8 ประการ ภายใน 7 วัน เพื่อจะได้ใช้เป็นเครื่องมือไว้ประกอบศาสนากิจ
ชนิดที่สอง ถ้าไม่สามารถเป็นไปได้ในชนิดที่หนึ่ง ขอให้ถึงที่สุดในวันที่เจ็ด พร้อมด้วยชีวิต เป็นอันไม่หวังกลับ
เมื่อทำได้ตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จึงจะเป็นผู้หมดโทษและเวรกรรมซึ่งได้ทำกับเพื่อนไว้แต่ปางก่อนในความฝันครั้งนั้น
ต่อมาปลายปีพ.ศ. 2499 ก็จวนแจเวลา แต่ก็ได้เริ่มลงมือทำกิจการไว้บ้างแล้ว คือได้สร้างพระพุทธรูปแบบใบโพธิ์ซึ่งได้ไปจำลองมาจากเมืองพาราณสี ในสมัยที่ได้เดินทางไปอินเดีย และได้รวบรวมผงต่างๆ ไว้หลายสิบแห่ง อาทิเช่นดินจากสังเวชนียสถานในอินเดีย พระเครื่องที่แตกหักตามกรุต่างๆ และเพื่อนฝูงกับลูกศิษย์ได้ส่งจากจังหวัดต่างๆ มาถวายบ้าง มีน้ำมนต์เก่า ๆ ซึ่งบรรดานักปราชญ์ได้ทำไว้ในสมัยโบราณ ผสมผงเกสรและอักขระ รวบรวมพิมพ์ขึ้นได้ สองชนิดคือ
1. พระผงไม่ได้เผา
2. พระผสมแล้วเผาไฟ
คิดอยู่ในใจว่า เราจะต้องสร้างพระพิมพ์ถึง 1 ล้านองค์ เมื่อลงมือทำแล้ว ได้มานับสำรวจตรวจตราดูในปีพ.ศ. 2499 เมื่อออกพรรษาแล้ว ได้จำนวนพระรวมทั้งสิ้นประมาณ 1 ล้าน 1 แสนองค์เศษ
วันหนึ่งเกิดนิมิตแปลกประหลาด คืนวันหนึ่งเงียบสงัด กำลังนั่งพิมพ์พระพุทธรูปอยู่มีพระบรมธาตุองค์หนึ่งได้เสด็จปาฏิหาริย์มาอยู่บนเตียงนอน มีลักษณะคล้ายรูปพระใบโพธิ์ที่กำลังพิมพ์อยู่ แต่พระใบโพธิ์ที่พิมพ์อยู่เป็นแบบพระแสดงธรรมจักร คือยกพระหัตถ์ สองข้างแบบแสดงพระธรรมเทศนา จึงได้ตั้งชื่อพระพิมพ์นี้ว่า "พระโพธิจักร" พระบรมธาตุองค์นั้นเดี๋ยวนี้ก้อยังอยู่ ยังมิได้บรรจุและยังมีพระบรมธาตุอีกองค์หนึ่ง เป็นแบบพระพุทธรูปนั่งสมาธิเดี๋ยวนี้ก้อยังอยู่
อีกวันหนึ่งไปนั่งสมาธิที่ลพบุรี เงียบสงัด จวนจะสว่างได้เห็นพระบรมธาตุอีกครั้งหนึ่ง เวลาประมาณตีห้า จวนสว่าง ได้มีรูปๆ หนึ่งแปลกประหลาดตกลงมา เป็นรูปคนทำด้วยแก้วเจียระไนสีดำชมพู จึงได้เขียนจำลองรูปไว้จนบัดนี้
เหตุการณ์แปลกประหลาดต่างๆ เหล่านี้ได้เกิดมีขึ้นมาก ขึงได้สั่งเตรียมการเรียกบรรดาพระลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดแล้วแจ้งให้ทราบว่า เราต้องทำการฉลองสมโภช 25 พุทธศตวรรษในปี พ.ศ. 2500 ที่วัดอโศการามนี้แน่นอน ได้ตัดสินใจเด็ดขาดในกลางพรรษาปี พ.ศ. 2499 นั่นเอง
เมื่อได้ตัดสินใจเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ตรวจดูมูลค่าปัจจัยของตัวเองมีอยู่ประมาณ 200 บาทเศษ แต่ก็ได้สั่งลงมือเตรียมการก่อสร้าง ปลูกปะรำ ทำฉัตร พอเริ่มลงมือก็ปรากฏว่า มีผู้นำเงินมาถวายให้เรื่อยๆ สร้างที่พักได้สองหลังก้อหมดเงิน ระยะนั้นได้ขึ้นไปเยี่ยมจันทบุรี เมื่อกลับมาถึงวัดอโศการาม พ.ต.ท. หลวงวีรเดชกำแหง ได้รายงานว่า เงินจวนหมดแล้วครับ ท่านพ่อจะไปหาที่ไหนในการทำงานครั้งนี้ได้วางแผนไว้ดังต่อไปนี้
1.วัตถุประสงค์ของงาน มีดังนี้
1.1 สร้างพระพุทธรูป 932,500 องค์ และต้องเพิ่มให้เป็นจำนวน 1,000,000 เป็นพระผงและพระดินเผาขนาดหนึ่งนิ้ว เพื่อแจกจ่ายแก่พุทธบริษัททั้งหลาย โดยไม่คิดมูลค่า เหลือจากนั้นแล้วบรรจุในรากฐานพระเจดีย์ต่อไป และจะสร้างพระทองเหลืองอีกสี่ปาง มีจำนวนห้าองค์ คือ ตรัสรู้หนึ่ง แสดงธรรมจักรหนึ่ง แสดงโอวาทแก่พระภิกษุสงฆ์ตอนใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพานหนึ่ง นิพพานไสยาสน์หนึ่ง พระประธานนั่งสมาธิเพื่อไว้ในโบสถ์หนึ่ง พระเงินขนาดเล็กหนึ่งนิ้ว พระนาก พระทองคำโตขนาดเดียวกัน (หนักหนึ่งบาท สร้างได้ราวสี่องค์) จะสร้างชนิดละห้าร้อยองค์ จะได้บรรจุในองค์พระเจดีย์เพื่อประโยชน์สูงสุดของกุลบุตร กุลธิดาแห่งเราท่านหลายในภายภาคหน้า
1.2 สร้างพระไตรปิฎก สามปิฎก คือ 1. พระสูตร 2. พระวินัย 3. พระปรมัตถ์ รวมเป็น 84.000 พระธรรมขันธ์ ที่แปลเป็นภาษาไทย
1.3 อุปสมบทพระภิกษุ 80 รูป บรรพชาสามเณร 80 รูป บวชนุ่งขาวถือศีล 8 อุบาสกชาย 80 คน อุบาสิกาหญิง 80 คน ถ้ามีจำนวนเกินไปจากที่กำหนดไว้ก็ยิ่งดีการบวชมีกำหนดเจ็ดวัน เป็นอย่างต่ำ เริ่มทำพิธีอุปสมบทตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 ถึง วันแรม 7 ค่ำ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม 2500 จนถึงวันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม 2500
1.4 เมื่องานนี้สำเร็จจะไปแล้วด้วยดี มีวัตถุประสงค์อีกอย่างหนึ่งคือจะสร้างพระเจดีย์ไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งได้เกี่ยวเนื่องในวันสำคัญนี้ เพื่อไว้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 1 เพื่อบรรจุพระพุทธรูป 1 เพื่อบรรจุพระธรรม 1 อันเป็นส่วนของข้อธรรม และบริขารอื่นๆ ซึ่งเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา พระเจดีย์นั้น จะสร้างกลุ่มเดียวกัน 3 ชั้น ๆ ละ 4 องค์ องค์กลางอีกองค์หนึ่ง องค์กลางเป็นองค์ใหญ่ 4 เหลี่ยม กว้างยาว 3 วา สูง 13 วา นอกนั้นองค์เล็กโดยรอบ
การวางรากฐานพระเจดีย์นี้จะเริ่มกระทำไว้ก่อนงาน สถานที่คือวัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ. สมุทรปราการ ซึ่งต้องการจะให้เป็นสถานที่อบรมพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกร ในทางวิปัสสนาธุระ (บำเพ็ญสมาธิภาวนา) ต่อไป
2. พิธีฉลองสมโภชบำเพ็ญกุศลในงาน มีดังนี้
2.1 นิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์วันละ 20 รูป 7 วัน
2.2 สวดพุทธาภิเษกวันละ 8 รูป นั่งปรกวันละ 8 รูป 7 วัน
2.3 เทศน์สังคายนา 5 กัณฑ์ วันละ 1 กัณฑ์ สวดแจงกัณฑ์ละ 40 รูป เพื่อเป็นการบำเพ็ญกุศลอุทิศส่วนบุญให้ญาติของพุทธบริษัทที่ล่วงลับไปแล้ว (ญาติพลี)
2.4 ถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร ที่นิมนต์มาวันละ 500 รูป 7 วัน ต่อจากนั้นยังมีการบำเพ็ญกุศลเป็นนิจอีกจนครบ 2 สัปดาห์ สัปดาห์ท้ายเลี้ยงพระวันละ 300 รูป 7 วัน
2.5 ในระหว่าง 7 วันนี้ มีการเวียนเทียนสมโภชทุกวัน
2.6 ในวันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วันที่ 13 พ.ค. พ.ศ. 2500 ทำพิธีบรรจุวัตถุต่างๆ ในรากฐานพระเจดีย์
2.7 มีการบำเพ็ญกุศลในลัทธิทางจีน คือสวดกงเต๊ก 3 วันและมีเทศน์ตามลัทธินิยมนั้นอีก (วิธีการบำเพ็ญกุศลนอกจากนี้ยังมีอีก)
นอกจากนี้จะสร้างที่พักให้ความสะดวกแก่พระเณรทุกเหล่า สร้างที่พักให้อุบาสก อุบาสิกาได้รับความสะดวก และต้องตั้งโรงครัวประจำในงาน
เมื่อได้เขียนโครงการขึ้นเช่นนี้แล้ว ก็ได้ดำเนินงานไปตามโครงการโดยลำดับ ได้เอาโครงการที่เขียนไว้นี้ให้ศิษย์ดูหลายท่านหลายคน ต่างคนต่างส่ายหัวไปมาแล้วพากันพูดว่า ท่านพ่อจะทำอย่างไร กิจการงานใหญ่โตอย่างนี้ จะไปหาเงินทองที่ไหน แต่ตัวเจ้าของเองนึกรำพึงแต่ในใจว่า เราทำบุญ คนใจบุญต้องมาช่วยไม่ต้องออกฎีกา
ต่อมา เมื่อได้กลับจากจังหวัดจันทบุรีแล้ว จวนเวลาจะเริ่มงานก็มีคนได้นำเงินมาถวายอยู่เรื่อย ๆ ปรากฏว่าได้เงินเป็นจำนวนเกือบหนึ่งแสนบาท มีคนๆ หนึ่งคือ ดร หยุด แสงอุทัย กลัวว่าจะทำงานครั้งนี้ไม่สำเร็จ จึงได้ไปทาบทามขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ได้ไปเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม คือพลโท หลวงสวัสดิ์ฯ ซึ่งยังไม่เคยคุ้นเคยกันกับเรา แต่น่าขอบใจท่านๆ ได้พูดกับดร.หยุดว่า ถ้าต้องการเงิน จะช่วยจัดการให้ เรื่องนี้คุณหญิงวาด เลขวณิชธรรมพิทักษ์ ได้นำมาเล่าให้ฟัง จึงได้ตอบไปว่า ไม่ต้องการ
การปลูกสร้างก็ได้เริ่มขึ้นเรื่อยๆ เงินก็มีคนมาทำบุญเรื่อย ๆ โดยไม่ได้แจกฎีการ้องขอจากผู้ใด เป็นแต่บอกเล่าแจกใบปลิวกำหนดการให้ทราบในคณะสานุศิษย์เท่านั้น
ได้เตรียมการภายในวัดก็ได้สำเร็จไปเป็นส่วนมาก สำหรับศาลาโรงพิธีได้มอบหมายให้อาจารย์สุณี (แม้น) ชังคมานนท์ ครูซ่วน อัชกุล คุณทองสุข แม่กิมหงษ์ ไกรกาญจน์ เป็นเจ้าหน้าที่ปลูกสร้างจนสำเร็จ แต่ยังไม่เพียงพอ ได้สั่งให้ขยายหลังคาจากเพิ่มเติมอีกทั้ง 4 ด้าน พ.ต.ท. หลวงวีรเดชฯ พร้อมด้วยพระเณรได้ช่วยกันสร้างนอกจากนี้ยังได้ช่วยกันสร้างโรงครัวชั่วคราว และที่พักชั่วคราวขึ้นอีกหลายหลัง
ที่พักชั่วคราวสร้างเป็นหลังคาจากฝาจากยาวสี่สิบวา
โรงครัวยาวสามสิบวาเศษ กว้างประมาณสามวาหลังคาจาก
ที่พักพระเณรมีห้าหลังๆ หนึ่งยาวสี่สิบวา กว้างห้าวา หลังคาจาก ฝาจาก
ที่พักอุบาสก อุบาสิกาจัดแยกให้อยู่คนละที่ห้าหลัง ยาวหลังละ สี่สิบวา กว้างห้าวา
การปลูกสร้างที่พักชั่วคราวเหล่านี้สิ้นเงินไปประมาณหนึ่งแสนเศษ ศาลาโรงพิธีสิ้นเงินหนึ่งแสน หกหมื่น ห้าพัน ซ่อมถนน รอบวัดโดยมีคุณหญิงวาดฯ เป็นผู้ทำ สิ้นเงินหกหมื่น รวมทั้งหมดสิ้นเงินสองแสนเศษ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จะต้องใช้จ่ายในงานนี้มีอีกมากมาย เงินที่มีอยู่ก็ค่อยๆ หมดไปทุกที แต่ก็ได้มาทุกวัน
พอข้างขึ้น เดือนเม.ย. ก็ได้จัดเตรียมการเป็นการใหญ่ญาติโยม พระเณร ที่อยู่ต่างจังหวัดได้เดินทางเข้ามาประชุมกันเป็นจำนวนมาก นาคที่มาสมัครบวชทั้งหญิงและชายมากมายทวีขึ้นทุกทีจนเลยจำนวนที่ได้กำหนดไว้แต่เดิม