Monday, November 28, 2011

ท่านพ่อลี ธัมมธโร วัดอโศการาม สมุทรปราการ ตอนที่ 9 (จบ)

มาบัดนี้จึงได้เริ่มสร้างวัดอโศการาม เพื่อให้เป็นหลักแหล่งของกุลบุตรกุลธิดา สืบต่อไป ในระหว่างอยู่วัดอโศการามเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะขึ้นโดยไม่รู้ตัว ในนาม พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์จึงได้ตั้งใจอยู่จำพรรษาในวัดนี้เรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ มาถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๒

ในพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๐๒ รู้สึกว่าอาการป่วยมารบกวน เริ่มป่วยตั้งแต่กลางพรรษา มานึกถึงการเจ็บป่วยของตัว บางวันบางเวลาก็เกิดความท้อถอยในการที่จะมีชีวิตอยู่คือไป บางวันก็รู้สึกว่าจิตใจขาดกระเด็นไปจากศิษย์ มุ่งไปแต่ลำพังตนคนเดียว มองเห็นที่วิเวกสงัดว่าเป็นบรมสุขอย่างเลิศในทางธรรมะ บางวัน บางเวลา อาการป่วยทุเลา บางวันก็ป่วยตลอดคืนแต่พอทนได้ มีอาการปวดเสียดในกระเพาะ มีอาการจับไข้วันหนึ่งเป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมง ฉะนั้นเมื่อออกพรรษาแล้วก็ได้มาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า

ครั้งแรกได้มารักษาอยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ตั้งแต่วันที่ ๒ พฤศจิกายน๒๕๐๒ จนถึงวันที่ ๕ เดือนเดียวกันก็กลับไปวัด เมื่อกลับไปวัดแล้ว อาการอาพาธชักกำเริบ พอถึงวันอังคารที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๒ ก็ได้กลับมาพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าอีกครั้งหนึ่ง อาการป่วยก็ค่อยทุเลาเบาบาง

อยู่มาวันหนึ่งมานอนนิ่งนึกอยู่คนเดียวว่า เราเกิดมาก็ต้องการให้เป็นประโยชน์แก่ตนและคนอื่น แม้เราจะเกิดอยู่ในโลกที่มีการเจ็บป่วย ก็มุ่งทำประโยชน์ให้แก่โลกและพระศาสนาตลอดชาติ ทีนี้เราเจ็บป่วยเราก็อยากได้ประโยชน์อันเกิดจากการเจ็บป่วยในส่วนตนและคนอื่น ฉะนั้น จึงได้เขียนหนังสือขึ้นฉบับหนึ่ง มีใจความดังต่อไปนี้คือ

ห้องพิเศษ โรงพยาบาลบุคคโล ทหารเรือ

(โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า

เรื่องอาหารของท่านพ่อนั้น ใครๆ อย่าได้ห่วงอาลัย ทางโรงพยาบาลมีทุกอย่างว่าจะต้องการอะไร ฉะนั้น ถ้าใครๆ หวังดีมีศรัทธาแล้ว ให้คิดค่ารถที่นำไปนั้นเสีย คิดค่าอาหารที่พวกเราจ่ายไปนั้นเสีย เอาเงินจำนวนนั้น ๆ ไปทำบุญในทางอื่นจะดีกว่า เช่น หลวงพ่อใช้ยาของโรงพยาบาลไปเท่าไร เหลือจากท่านพ่อแล้วยังเป็นประโยชน์กับคนอื่นที่อนาถาต่อไป ให้พากันคิดเช่นนั้นจะดีกว่ากระมัง และตึกที่ท่านพ่อพักอยู่นั้นเป็นตึกพิเศษ ยังมิได้เปิดรับคนป่วยเลย นายแพทย์ก็ให้เกียรติท่านพ่อเต็มที่ แม้มูลค่าบำรุง ๑ สตางค์ ไม่เคยพูดกันสักคำ

ฉะนั้น ผู้ใดหวังดีแก่ท่านพ่อ ควรนำไปคิดดูก็แล้วกัน ในที่สุดนี้ท่านพ่อจะสร้างเตียงไว้เป็นที่ระลึกสักหน่อย ใครมีศรัทธาติดต่อท่านพ่อได้ หรือผู้อำนวยการและผู้ช่วยอำนวยการที่โรงพยาบาล บุคคโล ทหารเรือ

(ลงนาม) พระอาจารย์ลี

(หมายเหตุ โรงพยาบาลบุคคโล ทหารเรือ ได้รับอนุญาตจากกระทรวงกลาโหมให้เปลี่ยนชื่อใหม่ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๒ เป็นโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า หลังท่านพ่อเข้ามาพักรักษาตัว ๑ วัน ทั้งๆ ที่ทางโรงพยาบาลได้ขอเปลี่ยนชื่อนี้ไปเป็นเวลานานแล้ว)

เมื่อได้เขียนหนังสือดังกล่าว ได้นึกอยู่ในใจว่า อย่างน้อยควรได้มูลค่าปัจจัยในการช่วยเหลือโรงพยาบาลครั้งนี้ ๓ หมื่นบาท จึงได้ออกประกาศแจ้งความจำนงแก่บรรดาสานุศิษย์ ต่างคนต่างมีศรัทธา บริจาคร่วมกันตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๐๒ มีคนจังหวัดสมุทรปราการมาเล่าให้ฟังที่โรงพยาบาล มีใจความ ๒ อย่าง คือ

๑. ได้เกิดมีรถยนต์ชนกัน มีคนตายอีกแถวโค้งมรณะ บางปิ้ง

๒. บางคนก็ว่ามีผีคอยหลอก แสดงให้ปรากฏต่างๆ นานา.

เมื่อได้ทราบดังนี้ จึงได้คิดดำริ ทำบุญอุทิศกุศลให้คนตายด้วยอุปัทวเหตุทางรถยนต์บนถนนสายนี้ จึงได้ไปปรึกษาปลัดจังหวัดสมุทรปราการ และคณะศิษย์ ก็ตกลงกันว่าต้องทำบุญ ได้กำหนดการทำบุญกันขึ้น โดยเริ่มงานตั้งแต่วันที่ ๑๘ ธันวาดม ๒๕๐๒ มีการสวดมนต์เย็นที่ปะรำข้างถนนสุขุมวิท ใกล้ที่ทำงานของตอนการทางสมุทรปราการ จัดการผ้าป่า ๕๐ กอง มีคณะศิษย์ไปร่วมอนุโมทนา คราวนี้ได้เงินสมทบทุนช่วยโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรปราการทั้งสิ้น ๑๒,๖๐๐ บาทถ้วน (หนึ่งหมื่นสองพันหกร้อยบาทถ้วน)

วันที่ ๑๙ ธันวาดม ๒๕๐๒ ได้ถวายอาหารพระ ๕๐ รูป ทอดผ้าป่า ๕๐ กองเปลี่ยนซื่อโค้งใหม่ดังนี้

๑. ที่เรียกว่าโค้งโพธิ์แต่เดิมนั้น ให้ชื่อใหม่ว่า โค้งโพธิ์สัตว์

๒. ที่เรียกว่าโค้งมรณะแต่เดิมนั้น ให้ชื่อใหม่ว่า โค้งปลอดภัย

๓. ที่เรียกว่าโค้งมิได้แต่เดิมนั้น ให้ชื่อใหม่ว่า โค้งชัยมงคล

เมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ได้กลับมาโรงพยาบาลตอนบ่ายวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๐๒ ก็ได้พักรักษาตัวอยู่เป็นเวลาหลายวัน นายแพทย์และจ่าพยาบาลได้เอาใจใส่ศึกษาและให้ความสะดวกเป็นอย่างดี เช่น พลเรือจัตวา สนิท โปษกฤษณะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้เอาใจใส่มาก ทุกวันเวลาเช้ามืดได้นำอาหารมาถวายเป็นนิจ คอยปฏิบัติดูแลเหมือนกับลูกศิษย์ และในระหว่างนี้ก็ได้คิดเขียนหนังสือขึ้นฉบับหนึ่ง ชื่อว่า คู่มือบรรเทาทุกข์เพื่อแจกเป็นธรรมทาน ในการสร้างหนังสือนี้ เราก็ไม่ได้รับความลำบาก มีลูกศิษย์รับจัดพิมพ์ช่วย ๒,๐๐๐ เล่ม คือคุณนายละมัย อำนวยสงคราม ๑,๐๐๐ เล่ม ร.ท. อยุธ บุณยฤทธิรักษา ๑,๐๐๐ เล่ม รู้สึกว่าการคิดนึกของตนก็ได้เป็นไปตามสมควร เช่น ต้องการเงินบำรุงโรงพยาบาล มาถึงวันที่ได้ออกจากโรงพยาบาล คือวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๐๓ รวมเวลาอยู่ในโรงพยาบาล ๔๕ วัน ก็มียอดเงินประมาณ ๓๑ ๕๓๕ บาท แสดงว่าเราเจ็บ เราก็ได้ทำประโยชน์ แม้จะตายไปจากโลกนี้ก็ยังคิดอยู่ว่าชากกเรวรากที่เหลืออยู่ ก็อยากให้เกิดประโยชน์แก่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ตัวอย่างที่เคยเห็นมา เช่น ครูบาศรีวิชัย ซึ่งชาวเมืองเหนือเคารพนับถือ ท่านได้ดำริสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง แต่ยังไม่สำเร็จก็ตายเสียก่อน ต่อจากนั้นได้มีคนเอาศพของท่านไปตั้งไว้ใกล้ๆ สะพาน ถ้าลูกศิษย์หรือพุทธบริษัทอื่น ๆ ต้องการจะช่วยทำการฌาปนกิจศพท่าน ก็ขอให้ช่วยกันสร้างสะพานให้สำเร็จเสียก่อน ในที่สุด ครูบาศรีวิชัยก็นอนเน่าทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้

ฉะนั้น ชีวิตความเป็นมาของตน ก็ได้คิดมุ่งอยู่อย่างนี้เรื่อยมา นับตั้งแต่ได้ออกปฏิบัติในทางวิปัสสนากรรมฐานมาแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙ จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๒ นี้ได้อบรมสั่งสอนหมู่คณะสานุศิษย์ในจังหวัดต่างๆ ได้สร้างสำนึกให้ความสะดวกแก่พุทธบริษัท เช่น จังหวัดจันทบุรี มี ๑๑ สำนัก การสร้างสำนักนี้มีอยู่ ๒ ทาง คือ

๑. เมื่อลูกศิษย์ได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้น ยังไม่สมบูรณ์ก็ช่วยเป็นกำลังสนับสนุน

๒. เมื่อเพื่อนฝูงได้ดำริสร้างขึ้นยังไม่สำเร็จ บางแห่งก็ขาดพระ ก็ได้ส่งพระที่เป็นศิษย์ไปอยู่ประจำต่อไปก็มี บางสำนักครูบาอาจารย์ได้ไปผ่านและสร้างขึ้นไว้แต่กาลก่อน ก็ได้เดินทางไปเยี่ยมและอบรมหมู่คณะเรื่อยมาจนบัดนี้ จังหวัดจันทบุรีมี ๑๑ แห่ง นครราชสีมามีสำนักปฏิบัติ ๒-๓ แห่ง ศรีสะเกษ ๑ แห่ง สุรินทร์ก็มี เป็นเพื่อนกรรมฐานทั้งนั้น อุบลราชธานี มีหลายแห่ง นครพนม สกลนคร อุดรธานี ขอนแก่น เลย ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ ปราจีนบุรี ระยอง ตราด ลพบุรี ชัยนาท ตาก นครสวรรค์ พิษณุโลก เป็นวันที่ผ่านไปอบรมชั่วคราวไม่มีสำนัก สระบุรีมี ๑ แห่ง อุตรดิตถ์ก็เป็นจุดผ่าน ไปอบรมลำปาง เชียงราย เชียงใหม่ นครนายก นครปฐม ได้ผ่านไปอบรมชั่วคราว ยังไม่มีสานัก ราชบุรีได้ผ่านไปอบรม ยังไม่มีสำนัก เพชรบุรี มีพระเณรเพื่อนฝูงตั้งสานักไว้บ้าง ประจวบฯ  ได้เริ่มสร้างสำนักที่อำเภอหัวหิน ชุมพร มีสำนักอยู่ ๒-๓ แห่ง สุราษฎร์ธานีผ่านไปอบรมชั่วคราว ไม่มีสำนัก นครศรีธรรมราชก็ผ่านไปอบรมมีสำนักขึ้นก็รกร้างไป พัทลุง มีศิษย์ผ่านไปอบรมยังไม่มีสำนัก สงขลามีสำนักที่วิเวกหลายแห่ง ยะลา มีศิษย์ไปเริ่มอบรมไว้เป็นพื้นที่และได้เคยไปอบรม ๒ ครั้ง

ระหว่างออกพรรษาได้สัญจรไปเยี่ยมศิษย์เก่าๆ ของครูบาอาจารย์ที่เคยไปพักผ่อนมาแล้ว ก็ได้ไปอยู่เสมอมิได้ขาด บางคราวก็ได้หลบหลีกไปบำเพ็ญประโยชน์ส่วนตัวบ้าง นับตั้งแต่ได้อุปสมบทมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๘ แต่มาสวดญัตติใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ จำเดิมแต่นั้นมา ปีแรกที่ได้สวดญัตติแล้ว ได้อยู่จำพรรษาที่จังหวัดอุบลราชธานี ๖ พรรษา มาจำพรรษาวัดสระปทุม พระนคร ๓ พรรษา ไปจำพรรษาอยู่ที่เชียงใหม่ ๒ พรรษา จำพรรษาที่จังหวัดนครราชสีมา ๒ พรรษา จังหวัดปราจีนบุรี ๑ พรรษา มาสร้างสำนักที่จันทบุรี จำพรรษาอยู่ ๑๔ พรรษา ต่อจากนั้นไปจำพรรษาที่ประเทศอินเคย ๑ พรรษา กลับจากประเทศอินเดียผ่านประเทศพม่า ไปจำพรรษาที่วัดควนมีด จังหวัดสงขลา ๑ พรรษา จากนั้นได้จำพรรษาที่วัดบรมนิวาส ๓ พรรษา สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน) มรณภาพ แล้วได้ออกไปจำพรรษาอยู่วัดอโศการาม ๔ พรรษา พรรษาที่ ๔ นี้ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๕๐๒

เวลาที่ได้เขียนประวัติขึ้นนี้ กำลังนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล สมเด็จพระปิ่นเกล้าธนบุรี

วันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๔ เวลากลางคืน ท่านจึงได้ทิ้งขันธ์จากศิษยานุศิษย์ของท่านไป

ดิเรก มณีรัตน์

ผู้บันทึก

No comments:

Post a Comment