เมื่อถึงเวลาเข้าพรรษาก็ได้พักอบรมชาวจันทบุรีอีกตามเคย ในระหว่างที่อยู่จันทบุรีนี้ เมื่อถึงเวลาออกพรรษาแล้วได้ออกเดินธุดงค์ทุกปี ได้เที่ยวไปตามจังหวัดต่างๆ เช่นระยอง ชลบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา แล้วได้กลับไปจำพรรษาอยู่ที่ จ.จันทบุรีจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ในปีนี้นึกอยากออกไปเที่ยวประเทศพม่าและประเทศอินเดียได้จัดการขอหนังสือเดินทางได้สำเร็จ
เดือน พ.ย. ๒๔๘๒ ได้ออกเดินทางจาก จ.จันทบุรีมา จ.พระนคร พักที่วัดสระปทุม ได้ไปติดต่อกับทางราชการและสถานทูตก็ได้รับความสะดวกทุกอย่าง มีหลวงประกอบนิติสารเป็นผู้รับรองและช่วยติดต่อทางทูต รับรองทางการเงิน รับรองความบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส เป็นอันเรียบร้อยตามกฎหมายทุกประการ เมื่อได้รับหนังสือเดินทางเรียบร้อยแล้วก็ได้ออกเดินทางไป จ.พิษณุโลก แล้วไปสุโขทัย ตาก และได้ไปพักอยู่ที่วัดหนึ่งๆ โยมได้ติดต่อตั๋วเครื่องบิน เพื่อข้ามเขาไปยัง อ.แม่สอด แต่ไม่สำเร็จเพราะมีคนโดยสารเต็มทุกเที่ยว ในการไปครั้งนี้ได้มีศิษย์คนหนึ่งชื่อนายชินติดตามไปด้วย เป็นคนไม่ค่อยเต็มบาท แต่ใช้งานใช้การได้ดี
รุ่งเช้าฉันจังหันแล้ว ได้ออกเดินทางจาก จ.ตากข้ามเขาผาวอ กว่าจะถึงอำเภอแม่สอดต้องสิ้นเวลานอนกลางทาง ๒ คืน ได้ไปพักอาศัยอยู่ในวัดพม่าชื่อวัดจองตัวยะ (วัดป่า) วัดนี้ไม่มีพระสงฆ์เลย มีแต่คนๆ หนึ่งเป็นชาวกุลาอาศัยอยู่ เป็นคนรู้ภาษาพม่าได้พักอยู่กับแกหลายวัน จนได้รู้จักภาษาพม่าบ้าง รวมเวลาที่พักอยู่ประมาณ ๑ อาทิตย์เศษจึงได้ออกเดินทางต่อไป ได้เดินข้ามแม่น้ำเมยพอเดินข้ามไปก็ถึงตลาดเล็กๆ แห่งหนึ่ง มีโยมผู้ชายคนหนึ่งอายุประมาณ ๓๐ ปีวิ่งเข้ามาต้อนรับ ขอนิมนต์ให้ขึ้นรถเขาจะไปส่ง เขาบอกว่าเขาเป็นคนไทย ชาวเมืองกำแพงเพชร ได้จากบ้านเดิมมาอาศัยอยู่ในประเทศพม่าเป็นเวลา เกือบ ๒๐ ปีแล้ว สองคนกับนายชินได้รับนิมนต์ขึ้นรถของเขา รถวิ่งเข้าป่า ขึ้นเขาสูงวกไปเวียนมา เวลาประมาณบ่ายสองโมง รถจึงวิ่งพ้นเขาเทือกนี้ ถึงที่ราบ แล้ววิ่งต่อไปถึงหมู่บ้านกร๊อกแกร๊ก (กุดจิก) ถึงเวลามืดพอดีจึงถึงบ้านของแก จึงได้พักอยู่ที่บ้านของโยมผู้นี้ เวลาประมาณตีสี่ มีหญิงพม่านำข้าวต้มมาถวาย มาบอกให้ฉัน เราไม่ยอมฉันเพราะยังไม่สว่าง เขาจึงออกไปรออยู่ข้างนอกจนสว่าง
พอสว่าง ฉันจังหันแล้ว ภริยานายคนนั้นได้ส่งขึ้นรถยนต์ไปท่าจงโต (ท่าเรือไฟ) แล้วได้ขึ้นเรือเดินทางไปเมืองมะละแหม่ง เดินทางทางเรือประมาณ ๔ ชั่วโมง ระหว่างอยู่ในเรือเมล์มีแขกและพม่ามาชวนสนทนาด้วย แต่เราไม่ค่อยรู้ภาษาเท่าไรนัก เวลาประมาณ ๔ โมงเย็นเรือเมล์ถึง จ.มะละแหม่ง จากจังหวัดนี้จะต้องข้ามเรือถึงฝั่งเมาะตะมะ ข้ามแม่น้ำไปอีกหลายนาทีจึงถึงเมาะตะมะ เมื่อมาถึงฝั่งนี้แล้วมองเห็นสถานีรถไฟอยู่ลิบๆ เวลาประมาณ ๑ ทุ่มรถไฟจึงจะออกจากสถานีเมาะตะมะ ระหว่างที่รถไฟยังไม่ออก ได้ไปนั่งพักอยู่ใต้ร่มไม้คอยเวลารถออก ได้มีชายหนุ่มคนหนึ่งอายุประมาณ ๓๐ ปี สังเกตดูเป็นคนมีอัธยาศัยดีงาม ได้เข้ามาหาแล้วพูดบอกว่า อนุญาตให้ท่านขึ้นไปนั่งพักบนรถไฟได้เป็นพิเศษก่อนรถจะออก เพราะท่านเป็นพระไทยมาจากแดนไกล เขาเรียกเราว่า โธยาคงยี เราก็ได้พูดแสดงความขอบใจกับเขาว่า Thank you very much เขาก็ยกมือไหว้อย่างยิ้มแย้มแล้วถามว่า Where do you come from ? เราตอบเขาว่า I come from Siam พูดกันเสร็จแล้ว เราก็ขึ้นไปนั่งพักบนรถไฟ เจ้าหน้าที่รถไฟก็มาติดต่อสนทนากันพอรู้เรื่อง พูดภาษาพม่าบ้าง ภาษาอังกฤษบ้างปนกันไป
เมื่อได้เวลารถไฟออก เป็นเวลากลางคืน อากาศหนาว เรานอนคลุมโปง นายชินนั่งเฝ้าบริขาร ขณะรถไฟถึงสถานีหงสาวดี มีหญิงคนหนึ่งอายุประมาณ ๓๐ ปี ขึ้นมานั่งใกล้ๆ ที่นอนของเรา เขามาถามเป็นภาษาพม่าฟังออกบ้างไม่ออกบ้าง แต่ก็ได้ลุกขึ้นสนทนากับเขาโดยมรรยาท เราพูดว่า ตะวาย่างกุ้ง เขาถามว่าจะไปพักที่ไหนโดยภาษาพม่า เราตอบว่า ชเวดากอง ได้สนทนากันโดยใช้ภาษาใบ้ๆ แกก็เกิดความเลื่อมใส รถวิ่งไปถึงเวลาประมาณตี ๕ แกได้ลงจากรถไฟจากกันไป เราได้โดยสารรถไฟไปจนถึงเมืองย่างกุ้ง พอดีสว่างพระบิณฑบาต มีโยมคนหนึ่งวิ่งมาบนรถไฟ มาช่วยรับข้าวของทำตัวประดุจคนรู้จักคุ้นเคยกัน เขาได้นิมนต์ขึ้นรถของเขา เราก็พากันขึ้นไปนั่งโดยไม่พูดอะไร เขาได้พาไปส่งจนถึงที่พักบนพระเจดีย์ชเวดากอง โยมคนนั้นเลยกลายเป็นโยมอุปัฏฐากส่งเสียให้ความสะดวกทุกสิ่งทุกอย่าง เขาชื่อ นายหม่องแคว๊น ได้พักแรมอยู่บนองค์พระเจดีย์เป็นเวลา ๑๒ วัน ได้รู้จักคุ้นเคยญาติโยมชาวพม่าหลายคน สนทนารู้เรื่องราวพอสมควร แล้วก็ได้ออกเดินทางจากเมืองย่างกุ้ง ลงเรือเมล์ที่ท่าเรือใหญ่เดินทางต่อไปยังประเทศอินเดีย
เรือวิ่งข้ามมหาสมุทรอยู่ สองคืน สามวัน มืดพอดีถึงท่าเรือกัลกัตตาได้พบพระแขกองค์หนึ่งมาจากเมืองกุสินารายน์ ได้สนทนาภาษาธรรมะ โดยภาษาบาลีบ้าง ภาษาแขกบ้าง ภาษาอังกฤษบ้าง พูดคุยกันครั้งหนึ่ง ต้องใช้ถึง ๓ ภาษาประกอบกันจึงรู้เรื่อง บางคราวขึ้นต้นภาษาแขก ตอนกลางภาษาบาลี ตอนปลายภาษาอังกฤษ แต่ไม่เคยรู้สึกนึกอายเขาว่าเราพูดไม่เป็น เพราะเราก็พูดไม่เป็นจริงๆ แม้จะพูดได้ก็ไม่ถูกสำเนียง รู้สึกได้สนิทสนมกันมาก ในระหว่างเดินทางในเรือ
เมื่อขึ้นจากเรือที่ท่าเรือแล้ว ได้ขึ้นรถลากไปที่วัดพุทธสมาคมที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Maha Bodhi Society แล้วได้พักแรมคืนอยู่ ที่นารันทะ Buddhist Temple ที่นั่นได้พบเพื่อนคนไทยซึ่งเป็นลูกศิษย์พระโลกนาถและพักอยู่ที่นั่นชื่อพระใบฏีกาสด สิงหเสนีย์ จึงได้สนทนาพอรู้เรื่องราวต่างๆ ในประเทศอินเดีย ในสมาคมนี้ได้ให้สิทธิเราเป็นพิเศษ อยู่สบาย ฉันก็สบาย มีพระพักอยู่รวมแปดรูปด้วยกัน ได้พักอยู่ในวัดนี้ต้องฉันอาหารเจ ถึงเวลาฉันจังหัน นั่งวงรอบรวมกัน มีภาชนะคนละชิ้น ต่างองค์ต่างตักกับตักข้าวใส่ภาชนะของตน
พักอยู่พอสมควรแล้วได้ออกเดินทางไปเที่ยวดูวัตถุโบราณเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา รู้สึกมีความสังเวชสลดใจเป็นอย่างยิ่ง ดูสภาพของพระพุทธศาสนาเสื่อมโทรม เกือบไม่มีเหลือในด้านปฏิบัติ เช่นพระสงฆ์นอนห้องเดียวกับผู้หญิงบ้าง ฉันจังหันยามวิกาลบ้าง ขึ้นรถลากกับผู้หญิงบ้าง ดูเขาไม่พิถีพิถันในพระวินัยเสียเลย พอนึกถึงตอนนี้ก็ไม่อยากจะอยู่ในอินเดียต่อไปอีก เวลานั้นอินเดียยังไม่ค่อยสนใจในทางพระพุทธศาสนาเท่าไรนัก ตามสถิติของพุทธสมาคมมีคนนับถือพุทธทั้งประเทศประมาณสามแสนเศษประกอบด้วยพระภิกษุหลายชาติ หลายภาษา อาทิ พระฝรั่ง พระจีน พระธิเบต พระมองโกเลีย พระเยอรมัน ฯลฯ รวมทั้งหมดในประเทศอินเดียวอยู่ประมาณ แปดสิบรูปเศษ มีความเป็นอยู่อย่างกันดารเพราะไม่มีผู้นิยมใส่บาตรกันเท่าไรนัก
ได้ออกเดินทางจะไปพุทธคยา ได้ขึ้นรถไฟที่สถานีกัลกัตตาเวลา ๑ ทุ่มตรง ถึงเมืองพาราณสีพอดีเพล แล้วได้ขึ้นรถม้าออกไปตำบลสารนาถ ที่เรียกว่า ป่ามฤคทายวันเก่า เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมจักรโปรดพระเบญจวัคคีย์ทั้งห้าเป็นปฐมเทศนา อยู่ห่างจากเมืองพาราณสีไปประมาณแปดไมล์ เมื่อได้ไปถึงสถานที่นี้แล้วรู้สึกร่มรื่น เบิกบานใจ เป็นสถานที่กว้างใหญ่ไพศาล มีพระเจดีย์เก่าๆ มีพระพุทธรูปตั้งไว้ในพิพิธภัณฑ์มากมาย ได้ไปอาศัยพักอยู่ที่นั้นหลายวัน แล้วได้ออกเดินทางไปนมัสการสถานที่ดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้าที่เมืองกุสินารา บัดนี้เรียกว่า กาเซีย
บ้านเมืองแต่ก่อนกลายเป็นทุ่งนาไปหมด ขณะนั่งรถยนต์ผ่านทุ่งใหญ่ แลเห็นแต่ต้นข้าวสาลีเขียวชอุ่มรู้สึกเย็นตาเย็นใจ ไปเห็นรกรากเก่าของวัด และสถานที่ดับขันธปรินิพพานซึ่งได้ขุดฟื้นฟูขึ้นมา มีพระเจดีย์องค์หนึ่งตั้งตระหง่านเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า แต่องค์ไม่ใหญ่โตเท่าที่สารนาถ
วันรุ่งขึ้นได้เดินทางต่อไปนมัสการสถานที่ถวายพระเพลิงของพระพุทธเจ้า สถานที่นี่อยู่ห่างจากสถานที่ดับขันธปรินิพพานประมาณหนึ่งไมล์ แต่บัดนี้ได้กลายเป็นทุ่งนาไปหมด มีพระเจดีย์หักพัง เหลือแต่อิฐ มีต้นไทรใหญ่เกิดขึ้นเกาะอยู่ที่พระเจดีย์พัง มีพระจีนรูปหนึ่งทำที่พักไว้บนต้นไทรและนั่งภาวนาอยู่ที่นั้น ถึงเวลาตอนเย็นก็เดินทางกลับที่พัก
รุ่งเช้าเมื่อฉันจังหันแล้วขึ้นรถยนต์เดินทางกลับมาขึ้นรถไฟกลับไปเมืองพราราณสี ในระหว่างที่พักอยู่ได้ไปดูการล้างบาปตามลัทธิพราหมณ์ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ซึ่งไหลผ่านมาในบริเวณตลาดพาราณสี ดูเทือกเถาบ้านเมืองเก่าแก่พิลึกพิลั่น ได้ถามอาจารย์ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ เขาบอกว่า เป็นเวลาห้าพันปีมาแล้วเมืองนี้ไม่เคยร้าง ย้ายสถานที่ตั้งเมืองไปตามลำน้ำคงคาเสมอ แม่น้ำคงคานี้เขาถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เพราะไหลมาจากยอดเขาหิมาลัย ใครได้อาบตามเทศกาล เขาถือว่าเป็นการล้างบาป สมัยครั้งก่อนคนที่ป่วยหนักใกล้จะตายเขาก็หามไปวางไว้ริมฝั่งแม่น้ำ พอขาดใจศพกลิ้งลงไปในน้ำ ใครทำได้เช่นนี้ถือว่าได้บุญมาก ตายไปไม่ตกนรก ถ้าใครไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ก็นำกระดูกมาทิ้ง ปัจจุบันนี้ลัทธิเช่นนี้ได้หายไป ยังมีเหลืออยู่แต่ลัทธินิยมอาบน้ำล้างบาป เมื่อถึงฤดูเทศกาลของเขา คือเดือนยี่กลางเดือนถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ถ้าเราไปดูจะเห็นคนแต่งตัวสวยๆ มีผ้าโพกศีรษะ เดินไปมาเป็นกลุ่มก้อนแถวแนวมากมายแทบไม่มีทางหลีก แล้วพากันลงไปไหว้พระตามริมตลิ่ง บางแห่งก็มีโบสถ์ของพราหมณ์
ก่อนที่ลงอาบน้ำต้องทำพิธีไหว้พระศิวะเสียก่อน คือทำนิมิตเครื่องหมายไว้สองชนิด มีของลับผู้หญิงและผู้ชายตั้งไว้กลางโบสถ์ใหญ่ประมาณกระด้งฝัดข้าว ผู้คนพากันเอาน้ำไปสรง ไปพรม โปรยข้าวตอกดอกไม้และเงินทอง เสร็จแล้วก็ลงไปริมตลิ่งแลเห็นยืนกันเป็นแนว ไปเห็นโยคีนั่งบริกรรมหนวดเครายาวรุงรังขนมาก บางคนก็ไม่นุ่งผ้า นั่งบริกรรมภาวนาอยู่ตามริมน้ำ หญิงชายที่จะไปอาบน้ำล้างบาปก็พากันลงเรือจนเต็มลำ แล้วแจวเรือออกไปกลางแม่น้ำล่มเรือลง แล้วต่างคนต่างก็ดำน้ำผุดขึ้นฝั่ง ก็ถือว่าเป็นการล้างบาปได้ครั้งหนึ่ง บางพวกก็เห็นชี้มือขึ้นบนฟ้า บางพวกก็ยืนขาเดียวบางพวกก็แหงนหน้าดูตะวัน ถ้าจะพรรณนาลัทธิต่างๆ เหล่านี้ยังมีอีกมากมาย
วันนั้นไปเที่ยวดูเสียค่ำ พอเวลาตอนเย็นก็กลับเข้าที่พัก บริเวณสารนาถนี้เป็นสถานที่ใหญ่โตกว้างขวางมาก มีเนื้อที่ประมาณ ๕๐๐ ไร่เศษเป็นอย่างต่ำ มีต้นไม้ขึ้นหย่อมๆ มีกุฏิวิหารรกร้างมากมาย มีคนไปนมัสการพระพุทธรูปในวิหาร วิหารเหล่านี้ก่อสร้างด้วยหินทั้งสิ้น มีหญิงคนหนึ่งเกิดมีศรัทธาแรงกล้า ได้มอบเงินให้ท่านธัมปาละ มาฟื้นฟูสร้างพุทธสมาคม หญิงคนนี้เป็นชาวฮาวายลูกครึ่งฝรั่ง
ในบริเวณนี้มีวัดอยู่ สี่ วัดคือ
๑. วัดลังกา วัดนี้เป็นสาขาของสมาคมมหาโพธิ เลขานุการของสมาคมเป็นพระทำหน้าที่เผยแพร่พุทธศาสนาทั่วโลก
๒. วัดพม่า
๓. วัดจีน วัดนี้นายโอวบุ้นโฮ้ว เจ้าของห้างขายยาตราเสือเองอันต๋องเป็นผู้อุปการะ พระที่วัดนี้มาจากปักกิ่ง
๔. วัดพราหมณ์ วัดนี้ตั้งอยู่ใกล้ๆ พระเจดีย์ที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างไว้ เวลานี้ยอดหักพังลงมาเหลือสูงประมาณ แปด วา สถานที่นี้ปรากฏว่าเคยมีพระบรมธาตุ แต่บัดนี้ได้นำเอาไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองกัลกัตตา
ได้พักอาศัยเที่ยวสำรวจดูบริเวณนี้อย่างถี่ถ้วน ก็เชื่อมั่น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ว่าพระพุทธเจ้าได้เคยทรงแสดงธรรมจักรจริง สถานที่พระองค์นั่งแสดงก็ปรากฏอยู่ มีวิหารแห่งหนึ่งหักร้าง จารึกชื่อผู้สร้างไว้ว่า มหาราชา มีแท่นหินแห่งหนึ่งขนาดโตประมาณครกตำข้าว สูงประมาณเจ็ดศอก หักออกไปท่อนหนึ่งแล้ว ขณะนี้มีปรากฏอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ มีพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งมีศิลาจารึกว่า อโศกมหาราชาเป็นผู้สร้าง หน้าตักกว้างประมาณ ๑ ศอกคืบยาวๆ มีความสูงตามส่วนของรูป สวยงามมาก สร้างด้วยหิน
เมื่อได้สำรวจดูพอรู้เรื่องราวพอสมควร ก็ได้เดินทางออกจากเมืองพาราณสีกลับลงมาพุทธคยา ที่เมืองพุทธคยานี้มีพักในเมืองแห่งหนึ่งเป็นสาขาของพุทธสมาคม พอลงจากรถไฟแล้วก็ขึ้นรถม้าวิ่งไปตามถนน เมืองนี้เป็นเมืองที่ราบรื่นกว้างขวาง มีภูเขาดินเป็นเนินสูง มีแม่น้ำใหญ่สายหนึ่งชื่อ เนรัญชรา แต่ตื้นเขิน มีน้ำตลอดปี แม้ในฤดูแล้งก็มีน้ำไหลผ่านเสมอ ตรงกลางเมืองเป็นสันเนิน ที่กลางสันเนินนี้เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าได้เคยไปประทับเรียกว่า นิโครธาราม และมีเทือกบ้านของนางสุชาดาอยู่ในแนวนี้ ต่อจากนั้นไปเป็นแม่น้ำ อโนมา แม่น้ำนี้กว้างใหญ่เต็มไปด้วยทราย ในฤดูแล้งเวลาน้ำแห้งแลดูเหมือนทะเลทราย มีน้ำไหลนิดๆ เดินทางวกกลับคืนข้ามแม่น้ำเนรัญชราได้สักหน่อยก็ถึงพระเจดีย์แห่งหนึ่งมีต้นทองกวาวขึ้นอยู่เป็นกลุ่มที่ตรงนี้เรียกว่า มุจลินทร์ คือสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าในสมัยกลางนาคปรก ในระหว่างบริเวณต้นโพธิที่พระองค์ตรัสรู้มีพระพุทธรูปแกะด้วยหิน มีพระเจดีย์เก่าเล็กๆ แกะด้วยหินมากมาย มีเจ้าลัทธิต่างๆ ไปนมัสการมิได้ขาด
พักแรมอยู่ที่เมืองพุทธคยาพอสมควร ก็ได้กลับมาเมืองกัลกัตตา พักอยู่ที่นารันทะสแควร์ บุดดิสต์ เทมเปิล (Buddhist Temple ) ได้พักอยู่พอสมควรแล้ว ก็ได้ร่ำลาเพื่อนฝูงที่สนิทสนมคุ้นเคยกันกลับลงเรือที่ท่าเมืองกัลกัตตา ในเดือน มี.ค. ๒๔๘๒ ปลายปีในตอนนี้ไอมหาสงครามโลกครั้งที่สอง กำลังคุกกรุ่นใกล้ถึงจุดระเบิดขึ้นทางประเทศเยอรมัน ได้แลเห็นเรือรบวิ่งอยู่ในมหาสมุทรอินเดียหลายลำ ได้มองเห็นเวลาเรือแล่นผ่านมา นอนออ อยู่ในเรือกลางมหาสมุทรอินเดีย สองคืน สามวัน ก็ถึงท่าเรือเมืองย่างกุ้ง ได้ขึ้นไปพักอยู่บนพระเจดีย์ชเวดากอง ได้ไปเยี่ยมโยมที่เคยมีอุปการะได้พักอยู่พอสมควรแล้ว ก็ออกเดินทางกลับประเทศไทยโดยทางรถไฟ สมัยนั้นเครื่องบินโดยสารยังไม่มี จึงต้องเดินทางกลับตามเส้นทางสายเดิม เมื่อมาถึงอำเภอแม่สอดรู้สึกเหน็ดเหนื่อยในการเดินทางข้ามเขา จึงได้ติดต่อขอซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบินไทยที่อำเภอแม่สอด ขึ้นเครื่องบินจากอำเภอแม่สอดมาลงที่ จ.พิษณุโลก จับรถไฟจาก จ.พิษณุโลกไป จ.อุตรดิตถ์ พักอยู่ที่วัดศัลย์พงศ์ ได้ไปเยี่ยมญาติโยมและศิษย์เก่าพอสมควรแล้ว ได้ออกเดินทางไปพักอยู่ที่พระแท่นศิลาอาสน์ เป็นเวลาพอสมควรแล้วก็ขึ้นรถไฟกลับ กท.ฯ พักที่วัดสระปทุม ต่อจากนั้นได้เดินทางกลับไปจำพรรษาที่ จ.จันทบุรีอีกตามเคย ได้จำพรรษาอยู่ใน จ.จันทบุรีเป็นเวลานานถึง ๑๔ พรรษา จนเกือบถือได้ว่าเป็นบ้านของตัวเอง ปัจจุบันนี้มีสำนักที่ได้จัดตั้งขึ้นใน จ.จันทบุรีรวมทั้งสิ้น ๑๑ สำนักคือ
๑. วัดป่าคลองกุ้ง อ.เมือง
๒. วัดทรายงาม บ้านหนองบัว อ.เมือง
๓. วัดเขาแก้ว อ.เมือง
๔. วัดเขาน้อย ท่าแฉลบ
๕. วัดยางระหง อ.ท่าใหม่
๖. วัดเขาน้อย อ.แหลมสิงห์
๗. วัดเขาจำฮั่น อ.ท่าใหม่
๘. วัดแหลมยาง อ.แหลมสิงห์
๙. วัดใหม่ดำรงธรรม อ.ขลุง
๑๐. วัดบ้านอีมั่ง อ.ขลุง
๑๑. สำนักสงฆ์สามแยก สถานีทดลองกสิกรรมน้ำตก เขาสระบาป
สำนักเหล่านี้ได้มีพระประจำอยู่ทุกแห่ง ได้ตั้งเป็นวัดถาวรแล้วก็มี ยังมีสำนักสงฆ์อยู่ก็มี
ต่อมาปีพ.ศ. ๒๔๘๔ ได้เกิดสงครามอินโดจีน และมหาสงครามโลกครั้งที่สอง ในระหว่างสงครามได้ท่องเที่ยวไปในจังหวัดต่างๆ วกไปเวียนมาอยู่ตลอดเวลาจนถึงพ.ศ. ๒๔๙๓ เมื่อสงครามโลกสงบลงแล้ว ก็นึกจะออกไปประเทศอินเดียอีก พอถึงเดือนพฤศจิกายนก็ได้เตรียมการขอหนังสือเดินทาง
การไปประเทศอินเดียครั้งนี้ออกจะยุ่งยาก เพราะสงครามเพิ่งสงบใหม่ๆ พอเตรียมการทำหนังสือขออนุญาตก็ได้ถามโยมอุปฐากและไวยาวัจกรคือขุนอำนวยฯว่า มีมูลค่าปัจจัยอยู่เท่าไร ได้รับคำตอบว่ามี ๗๐ บาท แต่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมหนังสือเดินทางประมาณ ๑๒๐ บาท เมื่อเป็นดังนี้ญาติโยมที่ทราบเรื่องต่างพากันมาร้องทุกข์ห้ามไม่ให้ไป แต่ได้ตอบว่า ฉันต้องไป โยมตอบว่ามีเงินเท่านี้ ๗๐ บาท ไปไม่ได้ จึงได้ตอบว่า ฉันไม่ได้ให้เงินไป ฉันเอาตัวฉันไปต่างหาก เมื่อพูดเช่นนี้สานุศิษย์ก็เข้าใจว่าเราต้องไปจริงๆ ต่างคนต่างช่วยกันบริจาคทรัพย์เป็นค่าพาหนะเดินทาง
อยู่มาวันหนึ่ง พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ กับนายชำนาญ ลือประเสริญ ได้เดินทางไปพักอยู่ที่วัด เมื่อได้ทราบว่าเราจะเดินทางไปประเทศอินเดีย จึงได้สนทนากัน พระยาลัดพลีฯ ได้ตั้งปัญหาขึ้นสองข้อว่า
๑. ท่านจะไปทำไม ธรรมะมีกับตัวเราทุกคน
๒. ท่านรู้จักภาษาของเขารึ
จึงได้ตอบว่าพม่า แขก ก็เป็นคนเหมือนกันอาตมา คนกับคนไม่รู้จักภาษากันมีหรือในโลกนี้
พระยาลัดพลีฯ ท่านจะไปยังไง เงินของท่านมีพอไหม
ตอบ พอเสมอ
พระยาลัดพลีฯ ถ้าเงินท่านขาด ท่านจะไปได้อย่างไร
ตอบ เงินที่จะขาดไปนั้น มันก็คงขาดเหมือนผ้านุ่งขาด คือค่อยๆ ขาดทีละช่อง ทีละตอน ฉันใด อาตมาก็ฉันนั้น ก่อนเงินหมด จะไม่รู้อะไรบ้างหรือ
พระยาลัดพลีฯ ท่านรู้จักภาษาฝรั่งใหม ?
ตอบ อาตมาอายุ ๔๐ ปี ถ้าไปเรียนภาษาฝรั่งหรือภาษาแขก อาตมาเห็นว่า จะสามารถเรียนได้ดีกว่าลูกแขกหรือลูกฝรั่ง
ในที่สุดก็หมดโอกาสคุยกัน แล้วพระยาลัดพลีฯ ได้พูดขึ้นอีกว่า แกล้งพูดกับท่านเฉยๆ เราจึงพูดว่า สำหรับอาตมาไม่ได้ถือสาเจ้าคุณ แต่ต้องพูดไปอย่างนี้แหละ
ต่อจากนั้น ญาติโยม พระเณร ต่างพากันบริจาคช่วยเป็นค่าเดินทางได้มูลค่าทั้งสิ้นประมาณ ๑ หมื่นเศษ จึงได้เดินทางจาก จ.จันทบุรีมาพักอยู่ที่วัดบรมนิวาส ได้ติดต่อสถานทูตขอวีซ่าหนังสือเดินทาง ก็ได้รับความสะดวก โดยการอนุเคราะห์ของศิษย์ฝ่ายตำรวจ มี พ.ต.อ. สุดสงวน ตัณสถิตย์ เป็นผู้จัดการช่วยเหลือ ส่วนการขอแลกเงินตราต่างประเทศได้วิ่งเต้นช่วยเหลือกันเกือบไม่สำเร็จ เพราะขณะนั้นราคาเงินปอนด์ในตลาดมืดขึ้นสูงถึงปอนด์ละ ๕๐ บาท แต่อัตราของทางราชการ ๑ ปอนด์ต่อ ๓๕ บาท การวิ่งเต้นขอแลกเงินตราต่างประเทศนี้รู้สึกว่ายุ่งยากมาก เกือบ ๆ จะหมดหวัง จึงได้ตั้งอธิษฐานจิตว่า เราจะไปเยี่ยมเพื่อน และสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทับ เพราะไปมาคราวก่อนยังไม่ชัด จึงอยากไปอีกครั้งหนึ่ง ได้ตั้งอธิษฐานว่า ถ้าจะไปได้จริงในครั้งนี้ขอให้มีคนใดคนหนึ่งมาช่วยให้แลกเงินตราต่างประเทศได้สำเร็จ
หลังจากนั้น ๔ วัน นายบุญช่วย ศุภสีห์ (ขณะที่บันทึกนี้มียศเป็น ร.ต.ท. ตำรวจม้า) ได้ถามว่า
ท่านพ่อ แลกเงินได้รึยังครับ
ตอบ ยังไม่ได้
ผมจัดการเอง
จากนั้นเขาได้วิ่งเต้นติดต่ออยู่ประมาณ ๑ อาทิตย์ได้ไปติดต่อกับกระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย เขาได้หนังสือแนะนำจากเพื่อนฝูง และหนังสือรับรองหนึ่งฉบับจากอดีต ร.ม.ต. เลียง ไชยกาล ส.ส..อุบลราชธานี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ไปติดต่อกับธนาคารชาติ ครั้งแรกไปติดต่อได้รับคำชี้แจงว่า ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะอนุญาตให้แลกได้ นายบุญช่วยฯ จึงได้ปรึกษากับนายจรัส แตงน้อย และนายสมปอง จันทรากูล ซึ่งทำงานที่ธนาคารชาติ ตกลงผลสุดท้ายได้มีสิทธิ์แลกเปลี่ยนเงินปอนด์ตามอัตราราชการได้โดยนายจรัสได้เสนอให้ความเห็นสนับสนุนว่าควรให้แลก เพราะเป็นการเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนรวมแก่ประเทศชาติและศาสนา จึงแลกเงินปอนด์ได้ทั้งสิ้น ๙๘๐ ปอนด์
เมื่อแลกเงินฯได้แล้ว ก็ได้ไปติดต่อขอวีซ่าหนังสือเดินทาง ทางด้านกระทรวงต่างประเทศ ก็มีนายประชา โอสถานนท์ เป็นหัวหน้าแผนกออกหนังสือเดินทาง ได้ช่วยจัดการให้เป็นที่เรียบร้อยทุกอย่าง ตลอดจนกระทั่งการติดต่อกับเพื่อนที่อยู่ประจำในสถานฑูตไทยในต่างประเทศ แล้วได้ไปขอวีซ่าที่สถานเอกอัคราชฑูตอังกฤษเป็นอันเรียบร้อยทุกอย่างในการออกเดินทาง
เมื่อเดือน ม.ค. พ.ศ.๒๔๙๓ ได้ออกเดินทางจากประเทศไทยโดยเครื่องบิน นางประภาซึ่งเป็นศิษย์ทำงานอยู่บริษัทเดินอากาศไทยได้ช่วยซื้อตั๋วให้ในราคาพิเศษ ได้ส่วนลดเกือบ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เครื่องบินออกจากท่าอากาศยานดอนเมืองเวลาประมา๕ณ ๘.๐๐ น. การเดินทางครั้งนี้มีพระภิกษุติดตามไป ๑ รูป ชื่อพระสมุทร มีศิษย์หนึ่งคน ชื่อนายธรรมนูญ เวลาประมาณฉันเพล เครื่องบินก็ถึงสถานีการบินเมืองย่างกุ้ง มีเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชฑูตไทยประจำประเทศพม่ามาต้อนรับที่สนามบิน คือ ม.ล.ปีกทิพย์ มาลากุล นายสุปัน เศวตมาลย์ และนายสนั่น เขาได้พาไปอยู่ในวิหารบนพระเจดีย์ชเวดากอง ได้พักอยู่ในประเทศพม่า ๑๕ วัน ได้ไปเที่ยวดูสถานที่ต่างๆ ในเมืองย่างกุ้ง ตอนนี้ได้แลเห็นแต่ซากระเบิดตามสถานที่ต่างๆ สงครามกะเหรี่ยงก็กำลังกำเริบอยู่ทางเมืองมัณฑเล
วันหนึ่งได้ออกเดินทางไปเมืองหงสาวดี เพื่อนมัสการพระพุทธรูปนอนใหญ่ในตำบลหนึ่ง พบทหารพม่าซึ่งมารักษาการณ์อยู่ในบริเวณนั้น คณะทหารได้ให้ความสะดวก เวลาจะไปไหนมาไหนมีทหารติดตามไปด้วย ๑๒ คน เวลาที่นอนพักในเวลากลางคืนก็เฝ้ารักษาการณ์ให้ความปลอดภัย ไปนอนอยู่บนพระเจดีย์มุเตาซึ่งมียอดหัก เวลากลางคืนได้ยินแต่เสียงปืนดังสนั่นหวั่นไหว จึงถามทหารที่ไปด้วยว่า ยิงอะไรกัน เขาตอบว่า ยิงขู่คอมมิวนิสต์ เวลาเช้ามืดมีหญิงพม่าสองคนมาสนทนาด้วยเกิดศรัทธาได้นิมนต์ไปฉันที่บ้าน เมื่อได้เที่ยวดูสถานที่ต่างๆ ในเมืองย่างกุ้งเสร็จแล้ว ก็ตระเตรียมการเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศอินเดีย
ระหว่างพักอยู่ในเมืองย่างกุ้ง ได้มีพระภิกษุไทยองค์หนึ่งบวชในพม่า ชื่อสายหยุด ได้นำไปติดต่อแนะนำให้รู้จักกับเจ้านายพม่า จึงพากันเข้าไปในวัง เจ้าพม่าองค์นี้เป็นลูกสาวของพระเจ้าทีบอ กรุงมัณฑเล ได้สนทนาเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยให้จ้าวแม่ฟัง เจ้าแม่เล่าขนบธรรมเนียมประเพณีของพม่าให้เราฟัง ระหว่างกำลังสนทนากัน จ้าวแม่รับสั่งว่า ฉันเป็นคนไทย จ้าวแม่องค์นี้อายุประมาณ ๗๗ ชันษา เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าทีบอ กรุงมัณฑเลได้สั่งเป็นภาษาไทยว่า ท่านชอบฉันขนมต้มไหม แต่ไม่อยากพูดกันยาว ฟังเรื่องราวดูแล้ว พม่าเห็นจะได้ตัวไปในสมัยกรุงศรีอยุธยาแตก จ้าวแม่องค์นี้มีพระนามว่า สุทันตะจันทเทวี ได้รับสั่งขอความช่วยเหลืออย่างหนึ่งว่า เวลานี้รายได้ขาดไปหมด ขอให้ท่านช่วยบ้าง เราจึงตอบว่า ไม่เป็นไรตะกามะ อาตมาจะช่วย ที่เป็นดังนี้เพราะประเทศพม่าได้เปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลใหม่ พระบรมวงศานุวงศ์พม่าที่เคยได้รับเงินเดือนถูกตัดหมด จึงไม่มีรายได้ใดๆ ขอให้ท่านสงสารเถอะ เพราะเป็นไทยด้วยกัน ถ้าแนะนำให้สถานเอกอัครราชทูตไทยช่วยได้บ้างก็จะดี จ้าวแม่ได้เล่าเรื่องให้ฟังและขอร้องดังกล่าวนี้
ต่อมาได้นำเรื่องจ้าวแม่องค์นี้ไปเล่าให้ ม.ล.ปีกทิพย์ มาลากุลฟัง ท่านผู้นี้มีใจบุญใจกุศลมากทั้งสามี ภรรยา ขณะนั้นพระมหิทธาฯดำรงตำแหน่งเอกอัคราชทูต ม.ล.ปีกทิพย์ฯ ได้พาเราไปพบปะสนทนากับพระมหิทธาฯ เมื่อได้พบปะกันรู้สึกว่ามีความดีอกดีใจเหมือนญาติได้พบกัน บรรดาคณะทูตทั้งหมดก็ได้ช่วยเหลือทุกอย่างก่อนที่จะออกเดินทางไปประเทศอินเดีย ได้แนะนำให้ความสะดวกทั้งทางราชการและส่วนตัว
ปลายเดือน เม.ย. ๒๔๙๔ ได้ออกเดินทางจากเมืองย่างกุ้งโดยทางเครื่องบินได้ถึงสนามบินกัลกัตตาประมาณ ๔ โมงเย็น กัปตันเครื่องบินลำนี้เคยเป็นเพื่อนรักกัน บัดนี้ได้ถึงแก่กรรมเพราะเครื่องบินตกที่ฮ่องกง เวลาออกเดินทางเขาได้คุยว่าจะให้ขับแบบไหนสูงต่ำโลดโผนก็ได้ เขาได้บอกว่าจะพาขึ้นสูงถึง ๑ หมื่นฟุต ระหว่างเดินทางรู้สึกว่ามีคลื่นมาก บริเวณภูเขาหิมาลัยอากาศหนาวจัด จนกระทั่งนั่งอยู่ที่ห้องกัปตันไม่ได้ ต้องกลับมานั่งที่เก้าอี้แล้วห่มผ้า
เมื่อถึงสนามบินแล้ว ต่างคนก็ต่างไป เพราะคนขับมีสิทธิพิเศษไม่เหมือนผู้โดยสาร ส่วนเราต้องถูกตรวจเข้าของ ตรวจโรคสำหรับการเข้าห้องมืดเขายกให้เราเป็นพิเศษ ในห้องมืดนี้ภายในห้องสว่างจ้า คนที่เข้าไปให้ตรวจนั้นต้องแก้ผ้าหมด แต่เคราะห์ยังดี มีแขกคนหนึ่งพอเห็นเราเข้าไปในห้อง ก็ยิ้มแสดงว่าเขาจะช่วยเรา แขกคนนี้เป็นแขกซิก ในที่สุดเขาก็ให้ความสะดวกเรา ข้าวของไม่ต้องตรวจ ได้พักอยู่จนย่ำค่ำ จึงได้มีฝรั่งคนหนึ่งมาขอโทษแล้วบอกว่าเดี๋ยวรถของบริษัทจะมารับ ต่อมาอีกสักครู่หนึ่งก็ได้ขนข้าวของขึ้นรถยนต์วิ่งเข้าไปในเมืองกัลกัตตาหลายไมล์ ได้ไปพักอยู่ที่สมาคมมหาโพธิ
ขณะที่ไปถึงเลขานุการใหญ่ของสมาคมซึ่งเคยเป็นเพื่อนเก่าไม่อยู่ ได้ความว่าเขานำพระบรมธาตุไปทำการฉลองที่เมืองหลวงแล้วเลยเดินทางไปกัษมีระ พวกพระที่อยู่ที่สมาคมได้จัดแจงให้ความสะดวกทุกประการ เพราะเราเป็นสมาชิกของสมาคมมาหลายปี เขาได้จัดให้ไปพักตึกชั้นที่สาม
ระหว่างที่พักอยู่ได้ไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับเรื่องหนังสือเดินทางอยู่หลายวันจึงเป็นที่เรียบร้อย ได้พักอยู่ที่สมาคมมหาโพธิจนถึงเวลาจวนเข้าพรรษา คิดว่าจะเดินทางไปประเทศลังกาได้นำดร๊าฟท์ไปขึ้นเงินที่ธนาคาร ปรากฏว่าดร๊าฟท์ใบนี้ธนาคารที่ออกให้ไม่มีสาขาธนาคารในอินเดีย ธนาคารจึงไม่ยอมให้ขึ้นเงิน เขาชี้แจงว่าต้องไปขึ้นเงินที่สาขาธนาคารกรุงลอนดอน ตอนนี้ชักเกิดความยุ่งยาก ตรวจดูเงินที่ลูกศิษย์เหลืออยู่ประมาณ ๑๐๐ รูปี จะเดินทางไปไหนมาไหนก็ลำบาก ขณะเดียวกันมีเงินปอนด์ติดตัวอยู่ถึง ๘๐๐ ปอนด์ แต่ธนาคารอินเดียวไม่ยอมรับ เพราะกำลังเกลียดชังอังกฤษไม่ต้องการใช้เงินปอนด์ ไม่ต้องการพูดภาษาอังกฤษ เว้นแต่จะจำเป็นจริงๆ เราเลยต้องพลอยฟ้าพลอยฝนลำบากกับเขาไปด้วย
ในที่สุดได้ตั้งใจสวดมนต์ภาวนาแล้วตั้งอธิษฐานว่า ขอจงให้ข้าพเจ้าได้รับความสะดวกในเรื่องที่เกี่ยวกับเงินคราวนี้ อยู่มาวันหนึ่งเวลาประมาณบ่ายห้าโมงเย็นมีคนๆ หนึ่งชื่อนายถนัด นาวานุเคราะห์เป็นทูตพาณิชย์ไทยได้มาเยี่ยมแล้วถามว่า ท่านอาจารย์มีเงินใช้ไหม จึงตอบเขาไปว่า มีไม่พอ เขาจึงได้ล้วงกระเป๋าถวายให้เป็นจำนวน ๒,๐๐๐ รูปี เมื่อได้รับเงินรูปีมาเรียบร้อยแล้ว ในตอนเย็นวันนั้นเพื่อนคนที่เป็นเลขานุการใหญ่ของสมาคมมหาโพธิก็ได้เดินทางกลับมา เขาได้นิมนต์ไปคุยที่ห้องพัก แสดงความดีอกดีใจ แล้วสนทนากันเป็นภาษาบาลี
No comments:
Post a Comment