Monday, November 28, 2011

ท่านพ่อลี ธัมมธโร วัดอโศการาม สมุทรปราการ ตอนที่ 2

 

ต่อมาเมื่อออกพรรษาแล้วก็คิดถึงโยมผู้ชาย เพราะเห็นว่ายังติดๆ อะไรอยู่มาก นึกจะไปโปรดโยม จึงได้ออกเดินทางไปอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เรียกว่าบ้านโนนแดง ไปพักอยู่ใกล้ศาลเจ้าดอนปู่ตา ได้พักอยู่คนเดียวในป่านั้น ญาติในหมู่บ้านนั้นทราบเรื่องจึงได้ส่งข่าวไปถึงโยมผู้ชาย

รุ่งขึ้นเช้าโยมผู้ชายเดินทางมาหาแต่ดึก เตรียมอาหารมาถวายอย่างดีตามภาษาบ้านนอก แต่ก็มิได้ฉันฉลองศรัทธาให้โยม เป็นที่น่าเสียใจมาก เพราะขณะนั้นกำลังถือเคร่งในวินัย และเป็นสิ่งควรเคร่งด้วย คือไม่ยอมฉันอาหารที่เป็นอุททิสะมังสะ คือการฆ่าสัตว์เพื่อให้เฉพาะบุคคล วันหลังมานึกสงสารโยมผู้ชายแทบน้ำตาไหล เมื่อโยมผู้ชายเห็นบุตรที่บวช ไม่ฉันอาหารแล้ว ก็ได้ยกไปกินเองเสร็จแล้วได้ติดตามโยมมาพักอยู่ที่ป่าช้าของบ้านเกิดเมืองนอน แล้วได้ไปพักอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง เป็นป่าที่ชาวบ้านถือกันว่าผีดุ ได้ไปพักอยู่เป็นเวลาหลายวัน มีญาติโยมหลายหมู่บ้านพากันเดินทางมาฟังเทศน์ ได้ทำการปราบเรื่องการเชื่อถือผิดๆ ของชาวบ้านเหล่านั้น เช่นปราบพวกถือผีปอบ ผีกระสือ ผีไท้ ผีแถน มนต์กลที่เป็นเดียรัจฉาน วิชาต่างๆ ได้ทำการชำระล้างสิ่งหนักใจของญาติพี่น้องโยมให้หมดไป เช่น ผีปู่ตาในดงเนินบ้านเก่า และที่พักอยู่นั้นด้วย ได้ทำการสวดมนต์แผ่เมตตากำจัดปัดเป่าจนสิ้นเชิง เวลากลางวันได้ทำการเผาเครื่องเซ่นสรวง ผีเต้น ผีรำ ผีมด ผีหมอมากมาย บางวันมีแต่ควันเผา เครื่องเซ่นทั้งวัน แล้วอบรมญาติโยมให้รับนับถือพระไตรสรณาคมน์ให้สวดมนต์ภาวนาทางพระ ไม่ให้ยุ่งเรื่องภูตผีปีศาจ

มานึกถึงภาพเก่าๆ ที่เคยผ่านมา รู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ จึงได้ช่วยคิดแก้ไข คือ เรื่องที่ญาติโยมเชื่อถือกันว่าผีปู่ตาต้องกินหมูเห็ดเป็ดไก่ทุกปี ดังนั้นพอถึงฤดูกาลไหว้ผีปู่ตา ชาวบ้านต้องเอาไก่เป็นหรือหมูมาบ้านละ ๑ ตัว คำนวณแล้วสัตว์มีชีวิตต้องถูกฆ่าเพื่อการเซ่นสรวงในปีหนึ่งๆ นับเป็นร้อยๆ ตัว เพราะบางคราวเกิดการเจ็บป่วยก็ต้องเซ่นตามที่บนบานไว้ พิจารณาเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์อะไรในการที่ทำดังนั้น เรื่องผีถ้ามีจริงต้องเป็นผู้ไม่กินของเซ่นอย่างนี้ ให้รับส่วนแบ่งกุศลดีกว่า มิฉะนั้นจะต้องบังคับให้หนีโดยเด็ดขาด ต้องใช้อำนาจอาชญาทางธรรมเข้าช่วย จึงได้สั่งเผาศาลผีปู่ตาจนหมดสิ้น ชาวบ้านบางคนเสียขวัญ กลัวจะเกิดความไม่ปลอดภัยในอนาคต จึงได้เขียนคำสวดมนต์แผ่เมตตาให้ทุกคน แล้วก็สั่งรับรองว่าไม่เป็นไร ในกาลต่อมาได้ทราบว่าสถานทีนี้กลายเป็นเรือกสวนไร่นาไปหมด ดงที่ผีเคยดุกลายเป็นหมู่บ้านขึ้นหมู่บ้านหนึ่ง ได้พักอบรมญาติโยมอยู่เป็นเวลาพอสมควร การประพฤติปฏิบัติก็อื้อฉาวโด่งดังขึ้น เกิดมีคนอิจฉาริษยา พยายามหาวิธีขับไล่ไสส่ง ด้วยวิธีการต่าง ๆ

อยู่มาวันหนึ่ง เขาได้นิมนต์พระผู้ใหญ่มาเทศน์ ๓ ธรรมาสน์เราเป็นองค์ที่ ๔ จึงได้ตกลงรับนิมนต์ไปเทศน์ พระผู้ใหญ่ที่ได้รับนิมนต์ไปเทศน์ คือ พระครูวจีสุนทร เจ้าคณะอำเภอม่วงสามสิบ พระอุปัชฌาย์ลุย เจ้าคณะอำเภออำนาจเจริญ อาจารย์วอ มีความรู้ทางบาลี และตัวเอง รวม ๔ องค์ นึกในใจว่า พรุ่งนี้ต้องฟันถึงขนาด ใครจะมาท่าไหนไม่นึกหวาดเสียวใดๆ ทั้งหมด มีคนมาฟังกันมากมาย สรุปว่า การเทศน์ได้ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีเรื่องอะไรขัดคอกัน

ต่อมาอีกครั้งหนึ่ง ยังมีพระบางรูป คนบางคน เห็นว่าเราเป็นคนอวดดี จึงหาเรื่องคอยยุแหย่พระอื่นให้เข้าใจผิด วันหนึ่งนายชัยเป็นผู้แทนชาวบ้านตำบลยางโยภาพ ได้ไปฟ้องถึงนายอำเภอว่าเราเป็นพระจรจัด ใจก็รู้สึกยิ่งเข้มแข็งยิ่งกล้า ว่าจะมาไล่กันท่าไหน การที่เรามานี่ไม่ได้มาสร้างความชั่ว เป็นอะไรก็เป็นกัน ต้องสู้กันด้วยวาทะให้ถึงที่สุด ผลที่สุดศึกษาธิการอำเภอก็ไม่มีอำนาจจะมาขับไล่เราจากหมู่บ้านนี้ ได้บอกเขาไปว่าเรื่องอย่างนี้ ถ้าขืนมีอีกเราจะอยู่จนหมดเรื่อง ถ้าเรื่องยังไม่หมดยังไม่หนี วันหนึ่งนายอำเภอได้ออกไปตรวจราชการ ได้ไปพักอยู่ในหมู่บ้านนี้ด้วย ผู้ใหญ่บ้านที่เป็นญาติเรา จึงได้เรียนเรื่องราวให้นายอำเภอทราบ นายอำเภอตอบว่า พระที่มาอบรมสั่งสอนญาติโยมอย่างนี้หาได้ที่ไหน ฉะนั้นให้ท่านอยู่ไปตามสบาย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาก็ไม่มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นอีก เป็นอันว่าสงบเรียบร้อยดี

ต่อมาก็ได้ลาญาติโยมเดินทางต่อไปยังอำเภอยโสธร พอดีได้พบพระอาจารย์สิงห์กับพระภิกษุสามเณรรวมกันถึง ๘๐ รูป พักอยู่ที่ป่าช้าอำเภอยโสธร ซึ่งบัดนี้ตั้งเป็นเรือนจำ ต่อจากนั้นพระพิศาลสารคุณ เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น วัดศรีจันทร์ ได้มีจดหมายมานิมนต์พระอาจารย์สิงห์ ชาวอำเภอยโสธร มีอาจารย์ริน อาจารย์แดง อาจารย์อ่อนตา เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยชาวบ้านร้านตลาด ได้จ้างเหมารถยนต์ให้ ๒ คัน ได้พากันออกเดินทางจากอำเภอยโสธรโดยทางรถยนต์ไปพักแรมอยู่ จ.ร้อยเอ็ด ๑ คืน แล้วออกเดินทางไปพักอยู่ที่ จ.มหาสารคามที่ดอนปู่ตา ที่ชาวบ้านพากันเซ่นสรวงว่าผีดุ มีชาวบ้านร้านตลาดและข้าราชการพากันมาฟังเทศน์มากมาย พระอาจารย์ที่ได้พบกันครั้งแรกก็ได้ไปด้วยกัน

เมื่อพิจารณาเห็นว่าที่นั่นไม่ใคร่จะสงบ จึงได้ลาพระอาจารย์สิงห์ไปเยี่ยมญาติ มีสามเณรติดตามไปด้วย ๑ องค์ เมื่อเดินทางไปถึงบ้านญาติที่อ.น้ำพอง คือขุนมหาวิชัย พี่ชายของแม่ซึ่งเป็นญาติของแม่ฝ่ายพี่ ได้พบเครือญาติที่นั่นหลายครอบครัว พอพวกญาติๆ เห็นหลานไปถึง ต่างคนต่างดีอกดีใจมาเยี่ยมเยียนถามข่าวคราวถึงบ้านเกิดเมืองนอน พวกญาติได้จัดที่พักให้ ณ ริมฝั่งน้ำพอง ในป่ายางใหญ่ ได้พักอาศัยอยู่เป็นเวลาหลายวัน สามเณรที่ไปด้วยได้ลากลับไปเยี่ยมบ้านที่ จ.สกลนคร ตนเองก็พักอยู่แต่เพียงคนเดียว ป่านี้มีแต่ลิงแต่ค่างมากมาย

อยู่มาวันหนึ่งรู้สึกว่าไม่สบายมีอาการปวดศีรษะเจ็บแก้วหู ก็ได้บอกเล่าให้โยมป้าฟัง คือป้าแม่เงิน โยมป้าได้แนะนำฝากกับหลานเขยซึ่งอยู่ที่ อ.พล รับราชการกรมตำรวจ หลานเขยได้นำมาส่งฝากคนรถให้ ได้อาศัยเขามาถึง จ.นครราชสีมา ไปพักอยู่ที่วัดสะแก ในระหว่างนั้นได้เที่ยวเดินตามหาญาติเป็นเวลา ๓ วัน แต่ไม่พบ

การที่ต้องการพบปะญาติในครั้งนี้ เหตุเพราะอยากจะเดินทางไป จ.พระนคร เพื่อรักษาตัวและไปหาพระอาจารย์มั่น อยู่มาวันหนึ่งคนลากรถเจ๊กได้นำไปส่งถึงบ้านพักเจ้าหน้าที่กรมทาง จึงได้พบกับพี่สาวชื่อแม่วันดี ซึ่งเป็นภริยาขุนก่ายฯ ทุกคนได้แสดงความดีอกดีใจในการที่พบหลาน และได้นิมนต์ให้อยู่จำพรรษาที่ จ.นครราชสีมา แต่ตนเองไม่ยอมอยู่ บอกเขาว่าประสงค์จะไปรักษาตัวที่ จ.พระนคร พี่สาวจึงได้จัดแจงซื้อตั๋วรถไฟส่งถึงสถานีหัวลำโพง ขณะรถไฟวิ่งผ่านดงพญาเย็น แล้วโผล่ออกมาเห็นทุ่งเขต จ.สระบุรีก็ได้ระลึกถึงพี่ชายที่มามีครอบครัวอยู่ที่ประตูน้ำหนองตาโล่ ซึ่งตัวเองเคยไปอยู่มาตั้งแต่ครั้งยังเป็นฆราวาส เมื่อรถไฟมาถึงสถานีชุมทางบ้านภาชี จึงได้ลงจากรถไฟแล้วเดินเท้าไปถึงบ้านพี่ชาย ได้ทราบว่า พี่ชายได้อพยพครอบครัวขึ้นไปอยู่ที่ จ.นครสวรรค์เสียแล้ว จึงได้พบแต่เพื่อนฝูงและคนเฒ่าคนแก่ที่เคยนับถือกันมา ได้พักอาศัยอยู่ในตำบลนั้นพอสมควร

ประมาณจวนสิ้นเดือน พ.ค. ได้บอกกับเพื่อนว่าจะเดินทางไป จ.พระนคร เพื่อนได้จัดแจงซื้อตั๋วรถไฟถวายแล้วพาไปส่งที่สถานี ได้เดินทางโดยรถไฟเข้าสู่ จ. พระนคร ลงรถไฟที่สถานีหัวลำโพง ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยมา จ.พระนครเลย จะไปวัดสระปทุมก็ไปไม่ถูก จึงได้เรียกรถลากคันหนึ่งมาถามว่า ไปวัดสระปทุม จะเอาค่ารถเท่าไร ทั้งๆ ที่ขณะนั้นตัวเองก็ไม่มีสตางค์เลย คนลากรถตอบว่าเอา ๕๐ สตางค์ จึงได้พูดต่อรองกับเขาว่า วัดสระปทุมอยู่ไม่ไกล ใกล้ๆ แค่นี้เอง ทำไมเอามากนัก ตกลงเขาลดให้เหลือ ๑๕ สตางค์ แล้วพาไปส่งถึงวัดฯ เมื่อถึงวัดสระปทุมแล้วได้ไปกราบนมัสการพระอุปัชฌาย์ๆ ได้เล่าให้ฟังว่า เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ได้นิมนต์พระอาจารย์มั่นให้ขึ้นไปจำพรรษาอยู่ที่ จ. เชียงใหม่

ตกลงว่าในปีนั้นได้อยู่จำพรรษาที่วัดสระปทุม กุฏิที่พักอยู่ห่างไกลจากกุฏิของพระอุปัชฌาย์ ในพรรษานี้ได้ตั้งใจพยายามปฏิบัติตนตามเคย กิจวัตรของวัดก็พยายามไม่ให้ขาด อุปัชฌายวัตรไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่ยอมให้ขาด เวลานั้น กำลังถือเคร่งปลีกตัวอยู่โดยลำพังเป็นส่วนมาก รักษาความสงบเป็นใหญ่ ทำวัตรสวดมนต์ทั้งเช้าและค่ำ ช่วยปฏิบัติพระอุปัชฌาย์ทั้งเช้าทั้งเย็น ได้สังเกตเห็นความเป็นอยู่ของพระอุปัชฌาย์ยังมีช่องโหว่อันเป็นสิ่งที่เราพึงพอใจมาก ที่จะได้มีโอกาสปฏิบัติท่าน อาทิเช่นที่นั่ง ที่นอน กระโถน หมากพลู เสื่อสาด อาสนะ ไม่มีใครสนใจและเอาใจใส่ นั่นคือช่องโหว่ที่เราเห็นว่าเราควรจะได้ปฏิบัติ

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ได้เอาใจใส่ปฏิบัติหน้าที่อุปัชฌายวัตรอย่างเต็มกำลังความสามารถ ได้รู้สึกว่าเป็นที่รักที่พอใจของท่านเป็นอย่างมาก ออกพรรษาแล้วท่านก็เรียกตัวให้ไปอยู่ประจำที่คลังสงฆ์ซึ่งเป็นสถานที่ที่ท่านฉันจังหัน คือกุฏิหอเขียว ซึ่งใช้เป็นที่เก็บพัสดุต่างๆ ของสงฆ์ ได้ตั้งใจปรนนิบัติท่านเสมือนอย่างบิดาบังเกิดเกล้า แต่ไม่เคยนึกคิดเลยว่าความรักความดีจะมีภัย

เมื่อย่างเข้าฤดูแล้งจึงได้กราบลาท่านเพื่อออกเดินทางไปวิเวกเดินธุดงค์ ได้ออกเดินทางจาก จ. พระนคร ผ่าน จ.อยุธยา สระบุรี ลพบุรี อ.ตาคลี ภูเขา ภูคา ล่วงเข้าเขต จ.นครสวรรค์ ผ่าน อ.ท่าตะโก และบึงบรเพ็ด ได้ไปโปรดพี่ชายและเพื่อนฝูงที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่เวลายังไม่ได้บวช

ในระหว่างที่อยู่ จ.นครสวรรค์นี้ ได้ออกไปพักอยู่ในป่าห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๒๐ เส้น วันหนึ่งได้ยินเสียงช้างป่ากับช้างตกมันร้องเสียงดัง เพราะกำลังสู้กันอยู่ สู้กันอยู่ประมาณ ๓ วัน ช้างป่าสู้ไม่ได้และตาย ส่วนช้างตกมันไม่เป็นอะไร เมื่อเป็นดังนี้ช้างตกมันก็ยิ่งดุร้าย พลุกพล่านอาละวาดหนักขึ้น ได้วิ่งขับไล่ใช้งาทิ่มแทงผู้คนซึ่งอยู่ในบริเวณป่าที่เราพักอยู่ เจ้าของช้างตกมันคือขุนจบฯ กับชาวบ้านซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นได้ขอนิมนต์ให้เข้าไปพักในบ้าน เราไม่ยอมไป รู้สึกหวาดเสียวอยู่บ้าง แต่อาศัยขันติและเชื่ออำนาจแห่งความเมตตา

ต่อมาวันหนึ่งเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. ช้างตกมันตัวนั้นได้วิ่งมายืนอยู่ข้างที่พักเรา ห่างที่เราพักประมาณ ๒๐ วา ขณะนั้นเรากำลังบำเพ็ญภาวนาอยู่ เมื่อได้ยินเสียงร้องจึงได้โผล่หน้าออกไปจากที่พัก เห็นช้างตกมันงาขาว ยืนหูชันทำท่าทางน่ากลัว นึกขึ้นในใจว่า ถ้ามันวิ่งพุ่งมาหาเรา ชั่วระยะเวลาไม่ถึง ๓ นาทีก็ถึงตัว เมื่อนึกได้เช่นนั้นก็เกิดความหวาดกลัว จึงกระโดดวิ่งออกจากที่พัก ไปถึงต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ห่างจากที่พักประมาณ ๓ วา ขณะที่กำลังเอามือเหนี่ยวต้นไม้ก้าวขาปีนต้นไม้ได้ข้างหนึ่ง ก็ได้ยินเสียงคล้ายคนมากระซิบที่หูว่า "เราไม่จริง กลัวตาย คนกลัวตาย จะต้องตายอีก" เมื่อได้ยินเสียงเตือนเช่นนี้ จึงปล่อยมือ ปล่อยเท้ารีบเดินกลับไปที่พัก นั่งเข้าที่ไม่หลับตา หันหน้าไปทิศที่ช้างยืนอยู่ นั่งภาวนาแผ่เมตตาจิต ในระหว่างนี้ได้ยินเสียงชาวบ้านโห่ร้องกันดังสนั่นหวั่นไหว ตกอกตกใจว่าพระองค์นั้น (หมายถึงเรา) คงจะแย่ ไม่มีใครไปช่วยเหลือท่าน ได้ยินแต่เสียงพูดอย่างนี้ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีคนใดกล้าเข้ามาใกล้ตัวเราเลยแม้แต่คนเดียว ได้นั่งแผ่เมตตาจิตอยู่ประมาณ ๑๐ นาที มองเห็นช้างตัวนั้น ตีหู โบกขึ้นลงเสียพุ่บพั่บๆ อยู่ประมาณสักครู่หนึ่ง แล้วมันก็หันหลังหลับ เดินเข้าป่าไป

เมื่อช้างตกมันตัวนั้นเดินเข้าป่าไปแล้วประมาณสักพักหนึ่ง เราได้ออกจากที่พักเดินออกไปกลางทุ่งนา ขุนจบฯเจ้าของช้างและญาติโยมได้พากันมาหาเราอย่างล้นหลาม พากันประหลาดใจว่าเราปลอดภัยมาได้อย่างไร

รุ่งขึ้นวันที่สอง ประชาชนและชาวบ้านซึ่งอยู่บริเวณป่านั้นได้แห่กันมาหาเราอย่างมากมาย พากันมาขอของดีจากเรา เขาพูดกันว่าท่านองค์นี้คงจะมีอะไรดี ช้างตกมันจึงไม่กล้าเข้ามาแทง เมื่อเป็นดังนี้ความไม่สงบก็เกิดขึ้น ได้พักอยู่เป็นเวลาพอสมควร แล้วก็เตรียมตัวร่ำลาญาติโยม เพื่อเดินทางกลับ จ.พระนครต่อไป

ประมาณเดือน พ.. ได้เดินทางกลับพระนครพักอยู่วัดสระปทุมตามเดิม

ในพรรษาปีที่ ๒ นี้ พระอุปัชฌาย์มอบให้รับหน้าหน้าที่ทำงานแทนพระใบฎีกาบุญรอด เพื่อนฝูงได้แนะนำชักชวนให้เรียนพระธรรมคือนักธรรมตรี ทำให้มีภาระหนักขึ้น เพราะไหนจะต้องปฏิบัติอุปัชฌาย์ ไหนจะต้องทำหน้าที่บัญชีพัสดุ และบัญชีเงินสดของวัด ซ้ำยังต้องเรียนพระปริยัติธรรมและเรียนกรรมฐานอีกเมื่อต้องมีภาระยุ่งยากหลายอย่าง อาการของจิตใจรู้สึกว่ามีอาการเสื่อมคลายไปบ้างเล็กน้อยในทางปฏิบัติ โดยมีข้อสังเกตได้ดังนี้

พรรษาแรกที่มาพักอยู่ บรรดาพระเณรเด็กเล็กที่เป็นหนุ่ม ได้มาชวนคุยเรื่องทางโลก เรื่องผู้หญิงมั่ง รู้สึกในใจว่าเกลียดที่สุด พอถึงพรรษาที่สอง ได้ยินเขาสนทนากันเรื่องความเจริญมั่งมี และเรื่องทางโลกชักชอบฟัง ต่อมาพรรษาที่สาม ได้เริ่มเรียนบาลีไวยากรณ์ ส่วนนักธรรมตรีนั้นสอบได้แล้ว เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ งานการก็หนักขึ้นทุกที ตอนนี้ชักขยับคุยกับเขาได้ในเรื่องโลก

เมื่อความเป็นอยู่ของตนเป็นเช่นนั้นก็มักจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นเครื่องเตือนใจทั้งภายนอกวัดและภายในวัด

อยู่มาวันหนึ่งเวลาจวนออกพรรษา ปรากฏว่าเงินสงฆ์ขาดบัญชีไป ๙๐๐ กว่าบาท ได้ตรวจบัญชีทบทวนดูเป็นเวลาหลายวัน ก็ตรวจไม่พบว่าได้ขาดหายไปอย่างไร ตามธรรมดาที่ปฏิบัติอยู่ทุกๆ วันที่ ๑ ของเดือนจะต้องนำเรื่องกราบเรียนพระอุปัชฌาย์ พอถึงวันที่ ๑ เดือนนี้ยังไม่ได้นำเรื่องไปกราบเรียน สอบถามเพื่อนฝูงที่ทำงานอยู่ใกล้ชิดกัน ต่างคนต่างปฏิเสธไม่รับรู้เรื่องอะไรทั้งหมด ในที่สุดก็พอพิสูจน์ได้อยู่ทางหนึ่ง คือมีเด็กคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระอุปัชฌาย์ชื่อ นายบุญ บางวันนายบุญได้ขอลูกกุญแจไปเก็บไว้ในเวลาเราออกไปบิณฑบาต เมื่อนึกได้เช่นนี้ก็ได้ขอความช่วยเหลือจากพระใบฏีกาบุญรอดให้ช่วยสอบถามนายบุญดูจึงได้ความว่า นายบุญรับว่าได้ขโมยไปในเวลาที่เราออกไปบิณฑบาต

เหตุนี้เกิดขึ้นจากพระอุปัชฌาย์นั่นเอง เรื่องมีว่าวันหนึ่งท่านได้รับนิมนต์ไปรับ ๓ หาบของเจ้านายองค์หนึ่ง พัดประจำ ย่ามประจำของท่านเก็บไว้ในห้องนอนของเรา เมื่อเรานำลูกกุญแจติดตัวไปในเวลาออกบิณฑบาต ท่านก็เอาไม่ได้ ท่านจึงได้สั่งให้มอบลูกกุญแจไว้แก่นายบุญเวลาเราออกไปบิณฑบาต ด้วยเหตุนี้เงินจึงได้สูญไป เคราะห์ดีที่นายบุญรับสารภาพว่าได้เอาเงินไปจริง ได้ตรวจบัญชีดูโดยละเอียดปรากฏว่าเงินของสงฆ์หายไป ๗๐๐ บาทเศษ นอกนั้นเป็นเงินของพระอุปัชฌาย์

เมื่อได้ตรวจทบทวนดูและสืบสวนได้ความจริงจากนายบุญเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ ๕ ต.ค. เวลาบ่าย ๕ โมงเย็น ก็ได้บอกกับเพื่อนมีพระใบฏีกาบุญรอดและพระเชื่อมซึ่งเป็นที่รักใคร่ชอบพอกันว่า ผมจะนำเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ไปกราบเรียนพระอุปัชฌาย์ในวันนี้

อย่าไปกราบเรียนท่านดีกว่า เมื่อสูญหายจริงผมจะใช้ให้

รู้สึกขอบใจเพื่อนรักเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็คิดว่าอย่าทำเช่นนั้นเลย ต้องเปิดเผยเรื่องราวกันดีกว่า มิฉะนั้นเด็กจะเสียหาย และเคยตัวต่อไป เพื่อนทั้งสององค์นี้ได้เคยถูกพระอุปัชฌาย์ดุมาหลายครั้งด้วยเรื่องเหล่านี้ ฉะนั้น พอถึงเวลาเราจะกราบเรียนท่าน ทั้งสององค์หลบเข้ากุฏิปิดประตูมิดชิด ปล่อยให้เราเข้าไปกราบเรียนท่านแต่เพียงคนเดียว ก่อนจะนำเรื่องกราบเรียนท่านได้เข้าไปนั่งกวาดถู ตำหมาก ปูที่นั่งที่กุฏิหอเขียนไว้คอยท่า...

เวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น.ท่านได้ลงมาจากกุฏิตึกหลังใหญ่ที่คุณหญิงตลับ ภริยาเจ้าพระยายมราชเป็นผู้สร้างถวายแล้วเดินขึ้นมานั่งที่กุฏิหอเขียว เมื่อเห็นท่านฉันหมาก ฉันน้ำร้อนเรียบร้อยดีแล้ว ก็ได้นำเรื่องเงินของสงฆ์และเงินของท่านหายไปเล่าให้ท่านฟัง พูดยังไม่ขาดคำท่านก็ดุเอาว่า ทำไมแต่ก่อนนี้ วันที่ ๑ ได้มาบอกเรา เดือนนี้ล่วงไปถึงวันที่ ๕ จึงมาบอก จึงได้กราบเรียนว่า การที่ไม่ได้นำมากราบเรียนในวันที่ ๑ นั้น เพราะยังกำลังสงสัยในตัวบุคคลและบัญชีอยู่ บัดนี้ได้ตัดสงสัยแน่นอนว่าหายจริง และได้สืบสวนหาตัวก็ได้ตัว ท่านถามว่า ใครล่ะ ก็ตอบถวายว่า นายบุญเขารับสารภาพแล้ว พอพูดคำนี้ท่านก็สั่งว่า ไปเรียกตัวมันมาและกำชับว่า เรื่องนี้อย่าพูดไปอื้อฉาวไป อายเขา ท่านได้สั่งให้ปิดเงียบ พอดีพระใบฏีกาบุญรอดได้นำตัวนายบุญมาเล่าเรื่องถวายท่าน นายบุญเองได้รับสารภาพต่อหน้าท่าน ในที่สุดตกเป็นภาระของนายบุญที่จะต้องหามาใช้ต่อไป

เมื่อเสร็จเรื่องเหล่านี้แล้ว ก็ขอลาออกจากหน้าที่ หนีออกธุดงค์ ขณะเกิดเรื่องนี้นอนไม่หลับอยู่คืนหนึ่งตลอดคืน คิดแต่ในใจว่า จะต้องสึกไปหาเงินมาใช้แทนสงฆ์ แต่อีกใจหนึ่งก็ไม่อยากจะสึก คิดรบกันไปรบกันมาอยู่อย่างนี้จนตลอดรุ่ง จึงได้เล่าเรื่องถวายให้ท่านฟัง ท่านไม่ยอมอนุญาตให้หนีไปตามความต้องการ ท่านพูดแต่ว่า เราไม่มีพระใช้ เราเห็นแต่เธอ ฉะนั้นต้องอยู่กับเราไปเสียก่อน เพราะเราแก่แล้ว ในที่สุดต้องทนอยู่ต่อมาเป็นพรรษาที่ ๓ ในพรรษานี้ท่านได้เรียกให้ไปอยู่กุฏิใหม่ที่ท่านอยู่ประจำ ได้ช่วยท่านแก้นาฬิกา แต่งที่โน่นที่นี่ ส่วนงานที่เคยทำได้มอบให้แก่พระเชื่อม รู้สึกเบาใจไปได้บ้าง ในระยะนี้ได้ตรวจดูจิตใจของตนเองรู้สึกว่าเสื่อมในทางปฏิบัติ คือจิตชักจะหันหน้าไปทางโลกเสียบ้าง ได้คิดต่อสู้อยู่จนตลอดพรรษา อยู่มาวันหนึ่งได้เกิดความคิดในใจว่า ถ้าเราอยู่ในพระนครนี้เราต้องสึก ถ้าเราไม่สึก เราต้องออกจากพระนครไปอยู่ป่า เราจึงได้นำการบริกรรมอารมณ์ทั้งสองอารมณ์นี้ทั้งกลางวันและกลางคืน

อยู่มาวันหนึ่งได้ขึ้นไปบนยอดพระเจดีย์ ซึ่งมีโพรง แล้วเข้ามานั่งสมาธิ ได้บริกรรมในใจว่า เราจะอยู่ หรือเราจะสึก มันก็นึกขึ้นในใจว่า เราอยากจะสึกมากกว่า จึงได้ซักซ้อมสอบถามตัวเองที่ ที่เราอยู่ขณะนี้มีบ้านสวยๆ ถนนงามๆ คนมาก ๆ เจริญรุ่งเรืองไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง เมืองนี้เขาเรียกว่าเมืองอะไร ตอบได้ว่า พระนคร (กรุงเทพฯ ผู้เขียน) คือเมืองสวรรค์ของมนุษย์ ได้ไต่ถามไปถึงบ้านเกิดเมืองนอนของเราเองว่า เราเกิดที่ไหน ตอบได้ว่า เราเกิดอยู่บ้านหนองสองห้อง อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี แล้วเวลานี้เราได้เข้ามาอยู่ในพระนคร แล้วก็นึกอยากจะสึก ถามตัวเองว่า เราอยู่บ้านของเราเอง เรากิน เรานอน เราจะนุ่งห่มอย่างไร บ้านช่องถนนหนทางเป็นอย่างไร อาชีพอะไร ก็นึกได้ทุกอย่างว่ามันไม่เหมือนพระนครสักอย่างเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะนั่งนึกคิดห่วงความเจริญของเขาทำไม ก็นึกตอบในใจขึ้นว่า คนที่อยู่ในพระนคร เขาก็มิใช่เทวบุตรเทวดาอะไร เขาก็คน เราก็คน ทำไมเราจะทำตนให้เหมือนเขาไม่ได้ ก็ได้ไล่เลียงชีพไต่ถามกันเองอยู่อย่างนี้เป็นเวลาหลายวัน

ในที่สุดก็ตกลงใจว่าอย่ากระนั้นเลย ถ้าเราจะสึกลาเพศจริงๆ เราต้องเตรียมเครื่องสึกไว้ก่อน คนอื่นที่เขาจะสึกเขาต้องเตรียมเครื่องนุ่งห่มและทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เราจะไม่ทำเช่นนั้น เราควรเตรียมอย่างอื่น คือเตรียมตัวสึกทางใจดูเสียก่อน วันนั้นกลางคืนเดือนหงายเงียบสงัด ได้ขึ้นไปนั่งอยู่ในโพรงพระเจดีย์ แล้วก็นั่งนึกว่า ถ้าเราสึกไปเราจะทำอย่างไร ได้คุยสนทนาอยู่อย่างเป็นเรื่องเป็นราวดังต่อไปนี้

ในระหว่างที่นึกคิดอยู่นั้น มีเหตุบันดาลเกิดขึ้นต่างๆ เช่นบางคืนฝันเห็นพระอาจารย์มาด่าบ้าง ดุบ้าง แต่เหตุการณ์สำคัญๆ ที่นับว่าแปลกเกิดขึ้น ๔ ครั้ง

ครั้งที่ ๑ ในเวลากลางคืนขณะกำลังนึกคิดอยู่ในอารมณ์ของโลกเช่นกัน วันหนึ่งรู้สึกท้องผูกไม่สบาย จึงได้ฉันยาถ่ายเวลาตอนบ่าย กะว่าตอน ๓ ทุ่มก็จะต้องไปถ่ายตามที่ได้เคยฉันมา ก็เกิดเหตุบังเอิญเมื่อฉันแล้วเป็นปกติไม่ปวดถ่าย รุ่งขึ้นเช้าจึงได้เดินทางไปบิณฑบาตในตรอกวังสระปทุม พอเดินไปถึงหน้าบ้านที่เขาจะใส่บาตรก็เกิดรู้สึกปวดอุจจาระอย่างหนักจนทนแทบไม่ไหว จะเดินออกไปรับบาตรก็เดินไม่ได้ ก้าวขาไม่ออก มัวแต่อดกลั้นขยับขาเดินได้ทีละคืบไป ถึงป่ากระถินแห่งหนึ่ง รีบวางบาตรลอดรั้วเข้าป่ากระถิน มันนึกอยากเอาหัวตำดินให้ตายเสียดีกว่า เมื่อทำธุรกิจเสร็จแล้วก็ออกจากป่าอุ้มบาตรเดินบิณฑบาตต่อไปตามเคย วันนั้นได้ข้าวไม่พอฉัน กลับมาถึงวัดก็ได้เตือนตัวเองว่า มึงสึกไปแล้ว ต้องเป็นอย่างนี้ ใครจะมาใส่บาตรให้กิน เรื่องนี้ได้เป็นคติเตือนใจอย่างดี

ครั้งที่ ๒ ออกเดินทางไปบิณฑบาตแต่เช้า เดินข้ามสะพานหัวช้าง ผ่านสามแยกวกไปถนนเพชรบุรี ข้าวแม้แต่ทัพพีเดียวก็ไม่ลงบาตร พอดีได้เห็นหญิงแก่อายุประมาณ ๕๐ ปี ไว้ผมมวยกับตาแป๊ะแก่ไว้หางเปีย ยืนส่งเสียงดังเอะอะอยู่ในห้องแถว ขณะนั้นเราเดินมาถึงตรงหน้าบ้านเขาก็หยุดยืนนิ่งดู ประมาณสัก ๒ อึดใจ เห็นยายแก่คว้าไม้กวาดตีหัวตาแป๊ะ ๆ คว้ามวยผมถีบหลังยายแก่ ตัวเองก็เริ่มนึกว่า ถ้าเป็นเราโดนเข้าอย่างนี้จะทำอย่างไรกัน ก็ตอบขึ้นว่า มึงต้องบ้านแตกสาแหรกขาดแน่ การที่ได้ประสบพบเหตุการณ์อย่างนี้กลับดีใจยิ่งกว่าบิณฑบาตได้ข้าวเต็มบาตร

วันนั้นบิณฑบาตได้ข้าวเกือบไม่พอฉัน ตกเวลากลางคืนก็นึกถึงเรื่องนี้อยู่เป็นนิจ กำลังดวงจิตก็รู้สึกมีการเบื่อหน่ายเรื่องของโลกออกไปโดยลำดับ

ครั้งที่ ๓ วันนั้นเป็นวันเทศกาล ได้ออกบิณฑบาตตั้งแต่เวลาเช้ามืด เดินไปถึงตลาดประตูน้ำสระปทุม แล้ววกกลับมาทางหลังวัด บริเวณนั้นมีคอกม้ามีถนนดิน เวลาฝนตกถนนลื่น ได้เดินอย่างสำรวมมาตรงหน้าบ้านของโยมคนหนึ่ง บิณฑบาตได้ข้าวเต็มบาตร ใจก็นึกคิดไปในอารมณ์ของโลก นึกจนเผลอตัวก้าวลื่นถลาล้มลงไปในบ่อข้างถนน หัวเข่าทั้งสองจมลงไปอยู่ในโคลนประมาณ ๑ คืบ ข้าวสุกในบาตรหกหมด เนื้อตัวมอมแมมไปด้วยโคลน ต้องรีบเดินทางกลับวัด เมื่อกลับถึงวัดแล้ว เก็บเอามาเป็นคติเตือนใจสอนตนเองว่า การนึกในเรื่องทางโลกของเรา เพียงแต่นึกคิดมันก็ยังมีโทษติดตามมาได้ถึงเพียงนี้ ใจก็ค่อยคลายค่อยเบื่อออกไปโดยลำดับ คิดว่า เรื่องครอบครัวนั้นมันเป็นเรื่องของเด็ก ไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่ กลับความคิดเห็นเป็นอย่างนี้

ครั้งที่ ๔ เวลารุ่งเช้าออกบิณฑบาต เดินไปตามถนนเพชรบุรีตามเคย เดินไปถึงวังพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าธานีนิวัติ พระองค์ท่านเคยใส่บาตรประจำวันแก่พระทั่วๆ ไป วันนั้นบังเอิญมีขันข้าวตั้งอยู่ตรงข้ามวังอีกขันหนึ่ง จึงได้เดินไปรับขันตั้งใหม่เสียก่อน เมื่อรับเสร็จแล้ว หันกลับมาจะไปรับขันตรงข้าม พอดีมีรถเมล์ขาวนายเลิศวิ่งมาอย่างรวดเร็ว วิ่งเฉียดศีรษะไปห่างประมาณ ๑ คือ คนโดยสารร้องตะโกนโวยวายขึ้น ตัวเองก็ผงะยืนตกตะลึงอยู่เป็นเวลาหลายอึดใจ วันนั้นเกือบถึงแก่ความตายเพราะถูกรถเมล์ชน ขณะกลับไปรับบาตรที่วังพระองค์เจ้าธานี ต้องสะกดตัวไว้อย่างเข้มแข็ง มีอาการสั่นสะท้านไปทั่วทั้งตัว เมื่อรับบาตรเสร็จแล้วก็เดินกลับวัด

เรื่องต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นคติเตือนใจ เพราะในสมัยนั้นความคิดทางโลกกำลังกำเริบอยู่ไม่เว้นวาย

ลุถึงปี พ.. ๒๔๗๔ ออกพรรษาแล้ว ในปีพรรษาที่ ๓ ก็นึกว่า เราต้องออกจากพระนครแน่ๆ ถ้าพระอุปัชฌาย์ยังหวงห้ามกีดกันอีก เห็นจะต้องแตกกันในคราวนี้ มิฉะนั้นก็ขออำนาจคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกจงช่วยข้าพเจ้าโดยทางอื่น

วันหนึ่งเวลากลางคืนนอนหงายดูหนังสือพร้อมภาวนา พอเคลิ้มหลับได้เห็นพระอาจารย์มั่นมาดุว่า "ท่านอยู่ทำไมในกรุงเทพฯ ฯ ไม่ออกไปอยู่ป่า" ก็ได้ตอบท่านว่า "พระอุปัชฌาย์ไม่ยอมให้ไป" ท่านตอบคำเดียวว่า "ไป" จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานถึงท่านว่า "เมื่อออกพรรษาแล้ว ขอให้ท่านมาโปรดเราเอาไปให้จงได้"

ต่อมาไม่กี่วัน เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ วัดบรมนิวาสเกิดอาพาธขาหัก พระอาจารย์มั่นก็ได้เดินทางมานมัสการเยี่ยมเจ้าคุณอุบาลีฯ วันหนึ่งคุณนายน้อยมารดาเจ้าคุณมุขมนตรีได้ถึงแก่กรรม เจ้าภาพได้กำหนดการฌาปนกิจที่วัดเทพศิรินทราวาส คุณนายคนนี้ได้มีอุปการะแก่พระอาจารย์มั่นสมัยที่อยู่ จ.อุดรธานี ท่านได้ตั้งใจมาในงานศพนี้ด้วย เรากับพระอุปัชฌาย์ก็ได้รับนิมนต์ไปในงานฌาปนกิจครั้งนี้ด้วย ได้ไปพบพระอาจารย์มั่นบนเมรุเผาศพ มีความดีใจอย่างยิ่ง แต่ไม่มีโอกาสได้สนทานากับท่านแม้แต่คำเดียว จึงได้เข้าไปถามท่านเจ้าคุณอมราภิรักขิต วัดบรมนิวาส ท่านก็เล่าให้ฟังว่า พระอาจารย์ได้มาพักอยู่ที่วัดบรมนิวาส จึงได้ลาพระอุปัชฌาย์ไปแวะวัดบรมนิวาสเพื่อพบพระอาจารย์มั่น

นับแต่อุปสมบทล่วงแล้วได้ ๔ พรรษา เพิ่งจะได้มาพบท่านอีกในคราวนี้ ก็ได้เข้าไปกราบไหว้ ท่านก็เมตตาแสดงธรรมให้ฟังว่า ขีณาชาติ วุสิตัง พรหมจริยันติ แปลได้ใจความสั้นๆ ว่า พระอริยเจ้าขีณาสพทั้งหลาย ท่านทำตนให้เป็นผู้พ้นจากอาสวะแล้วมีความสุข นั้นคือ พรหมจรรย์อันประเสริฐ จำได้เพียงเท่านี้ แต่รู้สึกว่าเราไปนั่งฟังคำพูดของท่านเพียงเล็กน้อยใจนิ่งเป็นสมาธิดีกว่าเรานั่งทำคนเดียวมากมาย ในที่สุดท่านก็สั่งว่า คุณต้องไปกับเราในคราวนี้ ส่วนอุปัชฌาย์นั้นเราจะไปเรียนท่านเอง สนทนากับได้เพียงเท่านั้นแล้วได้ลากลับวัดสระปทุม

ได้เล่าเรื่องที่ได้ไปพบพระอาจารย์มั่นให้พระอุปัชฌาย์ฟัง ท่านก็นั่งฟังแล้วนิ่งอยู่ วันรุ่งขึ้นพระอาจารย์มั่นได้ไปที่วัดสระปทุม แล้วพูดกับพระอุปัชฌาย์ว่า จะให้พระรูปนี้ติดตามไปด้วยในเมืองเหนือ พระอุปัชฌาย์ก็อนุญาต จึงได้จัดแจงตระเตรียมบริขารของตน ร่ำลาสั่งเสียเพื่อนฝูงและศิษย์ ได้ถามลูกศิษย์ถึงมูลค่าปัจจัยในการเดินทาง ได้รับตอบว่าเหลือเพียง ๓๐ สตางค์ เฉพาะค่ารถจากวัดสระปทุมไปถึงสถานีหัวลำโพงจะต้องจ่ายถึง ๕๐สตางค์ คิดแล้วค่ารถจากวัดไปถึงสถานีหัวลำโพงก็ไม่พอเสียแล้ว จึงได้กราบเรียนให้พระอาจารย์มั่นทราบ ท่านก็รับรองว่าจะจัดการให้ฯ

ก่อนจะถึงกำหนดเวลาประชุมเพลิงคุณนายน้อย ๑ วัน ท่านได้รับนิมนต์ไปแสดงธรรมที่บ้านเจ้าพระยามุขมนตรี เจ้าภาพได้ถวายผ้าไตร ๑ ไตร น้ำมันก๊าด ๑ ปีบ และเงิน ๘๐ บาท ท่านเล่าให้ฟังว่าผ้าไตรได้ถวายพระวัดบรมนิวาส น้ำมันก๊าดถวายพระมหาสมบูรณ์ ปัจจัยได้แจกจ่ายแก่ผู้ไม่มี เหลือไว้พอดีค่ารถ ๒ คน คือเรากับท่าน เมื่อได้พักผ่อนพอสมควรแล้ว เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ก็ให้ท่านกลับขึ้นไปเมืองเหนือ ได้เดินทางขึ้นไปพักอยู่ที่วัดศัลยพงศ์ จ. อุตรดิตถ์ ก่อนที่จะขึ้นรถด่วนที่สถานีหัวลำโพง ได้พบแม่ง้อ เนตรจำนงค์ ซึ่งจะได้ลงมาในงานฌาปนกิจศพคุณนายน้อยหรืออย่างไรไม่ทราบ แม่ง้อเคยเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น จึงได้รับเป็นโยมอุปัฏฐาก ขณะเดินทางในรถไฟไปตลอดทาง เมื่อเดินทางถึง จ.อุตรดิตถ์แล้ว ได้ไปพักอยู่ที่วัดศัลยพงศ์หลายวัน แล้วได้ออกไปพักอยู่ในป่าละเมาะแห่งหนึ่งห่างจากกุฏิเป็นที่เงียบสงัดวิเวกทั้งเวลากลางวันและกลางคืน

วันหนึ่งได้เกิดขัดใจกับพระอาจารย์ ท่านก็ได้เอะอะขับไล่ให้หนี ตัวเราเองก็รู้สึกชักโมโห รู้สึกฉิว ๆ อยู่ในใจ แต่ก็อดกลั้นไว้มิได้แสดงความโกรธออกมา ได้เคยปฏิบัติท่านมาอย่างไร ก็คงทำไปอย่างนั้น ก็ได้อยู่กับท่านตลอดมา รุ่งขึ้นวันใหม่เดือนยี่จวนจะสิ้นเดือน ได้รับข่าวว่าศิษย์คนหนึ่งทาง จ.เชียงใหม่ป่วยหนัก มีพระ ๒ รูปติดตามพระอาจารย์มั่น แล้วแจ้งข่าวให้ทราบ เสร็จแล้วพระ ๒ รูปนั้นก็เดินทางไป จ.พระนคร ในสมัยนั้นพระอาจารย์ตันเป็นเจ้าอธิการวัดศัลยพงศ์ วัดศัลยพงศ์นี้เจ้าคุณอุบาลีฯ วัดบรมนิวาสเป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างเป็นคนแรก

จากจังหวัดอุตรดิตถ์ เรากับพระอาจารย์มั่นได้ออกเดินทางต่อไปยัง จ.เชียงใหม่ เมื่อถึง จ.เชียงใหม่แล้วได้ไปพักอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง ลูกศิษย์คนหนึ่งชื่อนายเบี้ยว อยู่ อ.สันกำแพง มีอาการป่วยหนักมาก พี่ชายและพี่สะใภ้ได้นำตัวไปให้พระอาจารย์มั่น โรคที่นายเบี้ยวเป็นนั้นคือโรคจิต ในปีนั้นได้อยู่จำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง มีพระกรรมฐานที่เป็นเพื่อนฝูงพักอยู่หลายองค์แต่ต่างคนต่างไปจำพรรษาอยู่ตามบ้านนอก แม้ตัวเราเองท่านก็ให้ออกไป แต่เราไม่ยอมไป โดยเรียนท่านว่าเราตั้งใจจะอยู่ปฏิบัติพระอาจารย์จนตลอดพรรษา ท่านก็ยินยอม ตกลงจึงได้อยู่กับท่าน

ปีนั้นตรงกับพ.ศ. ๒๔๗๕ เจ้าคุณอุบาลีฯ ได้มรณภาพในพรรษานั้น ระหว่างเข้าพรรษา ได้ตั้งใจปฏิบัติพระอาจารย์และกรรมฐานของตน กับพระอาจารย์อย่างใกล้ชิด ท่านก็ได้ทรมานสั่งสอนทุกสิ่งทุกอย่าง เวลาตอนเย็นก็ได้นั่งสมาธิอยู่บนองค์พระเจดีย์ทางทิศเหนือ มีพระพุทธรูปใหญ่องค์หนึ่ง พระพุทธรูปองค์นี้ยังคงมีอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ ท่านบอกว่าที่ตรงนั้นเป็นมหามงคล เคยมีพระบรมธาตุเสร็จมาบ่อยๆ ให้ไปนั่งสมาธิตรงนั้น ก็ได้ทำตามท่านบอกทุกอย่าง บางวันนั่งจนไม่ได้นอน ระหว่างที่พักอยู่กุฏิหลังเล็กๆ ในป่าดงกล้วย กุฏิหลังนี้คุณนายทิพย์และหลวงยง ผู้กำกับการตำรวจเป็นผู้สร้างถวาย นายทิพย์เสมียนคลังจังหวัดกับภริยาคือนางตาได้ปฏิบัติส่งเสียอาหารพระอาจารย์เป็นอย่างดี ในระหว่างพรรษาก็ได้ออกติดตามบิณฑบาตกับท่านเป็นนิจ ระหว่างเดินบิณฑบาตท่านได้สอนกรรมฐานเตือนอกเตือนใจอยู่เสมอ พอเห็นผู้หญิงสวยๆ งามๆ ท่านก็บอกว่า มองดูทีรึนั่นเป็นอย่างไร สวยไหม ดูให้ดีๆ ดูเข้าไปข้างใน ไม่ว่าจะเห็นอะไร เช่นบ้านหรือถนน ท่านก็คอยสอนเตือนใจทุกวัน

เวลานั้นอายุเพิ่งได้ ๒๖ ปี พรรษา ๕ กำลังหนุ่ม ท่านก็คอยตักเตือนอยู่เสมอ รู้สึกว่าท่านสนใจในตัวเรามาก แต่มีที่แปลกใจอยู่อย่างหนึ่งเกี่ยวกับเครื่องใช้บริขารของเราดีๆ ใหม่ๆ ท่านคอยชี้มือบอกให้ย้อม ให้ซัก ให้ทำลายสีเดิม ของดีๆ ก็ไม่ค่อยยอมให้ใช้ บางทีก็ขอเอาไปให้คนอื่น ตัวเองก็นึกไม่ถึงว่าท่านมีความหมายอย่างไร พูดหลายครั้งหลายหนเข้า เราไม่ทำตาม เช่นผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ซึ่งเป็นสีขาว ก็ให้ย้อมเป็นสีแก่นขนุน ถ้าเราทำเฉยไม่ย้อม ท่านก็ลงมือย้อมให้เอง ชอบหาจีวรสบงเก่าๆ ขาด ๆมาปะแล้วก็ให้เราใช้สอย วันหนึ่งเดินออกไปบิณฑบาตพร้อมกับท่าน เดินไปทางสถานีตำรวจ ได้เดินสวนทางกับหญิงหาบของขายในตลาด แต่ก็ใจดีเหลือเกินไม่ได้เดินออกจากทางบิณฑบาต สำรวมใจแน่วแน่ สำรวมตนเต็มที่ ต่อมาอีกวันหนึ่งได้เดินตามท่านไปบิณฑบาต เราเดินห่างจากท่านนิดหน่อย ท่านเดินเร็ว แต่เราเดินช้า เห็นท่านเอาเท้าเตะกางเกงขาดของตำรวจที่ทิ้งไว้ข้างถนน ท่านเตะไปเตะมา เราก็นึกในใจว่าเราต้องเข้าในทางเสมอ พอถึงรั้วสถานีตำรวจ ท่านก็ก้มลงเก็บกางเกงขาดตัวนั้นเหน็บไว้ใต้จีวร เราก็แปลกใจว่าของเขาทิ้งแล้วท่านจะเอาไปทำไมกัน เมื่อกลับถึงกุฏิแล้วท่านก็นำเอาไปพาดไว้ที่ราวผ้าแห่งหนึ่ง เราก็ได้ทำการปัดกวาดปูอาสนะ เมื่อฉันอาหารเสร็จแล้วก็เข้าไปในห้องปูที่นั่งที่นอนของท่าน บางวันท่านก็ดุเอาว่า ทำอะไรไม่เรียบร้อย แต่ไม่ยอมบอกว่าทำอย่างไรจึงจะเป็นที่พอใจ เราก็ต้องพยายามทำให้ถูกใจท่านทุกเวลา จึงกระนั้นก็ต้องถูกเคี่ยวเข็ญอยู่จนตลอดพรรษา

ต่อมาวันหลังได้เห็นกางเกงขาดตัวนั้น กลายเป็นถุงย่ามและสายรัดประคดห้อยแขวนอยู่ด้วยกันที่ข้างฝา วันหนึ่งท่านบอกว่าถุงย่ามใบนี้และรัดประคดอันนี้เอาไปใช้เสีย เรารับเอามามองดูมีแต่รอยปะหลายแห่ง ของดีๆ ก็มีอยู่แต่ท่านไม่ยอมให้ การได้ปฏิบัติพระอาจารย์นี้เป็นการดีที่สุด ยากที่สุด ต้องยอมฝึกหัดทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องเป็นนักสังเกตที่ดี และละเอียดรอบคอบจึงจะอยู่ได้ เวลาเดินพื้นกระดานทำเสียงดังไม่ได้ เดินไปแล้วมีรอยเท้าติดพื้นก็ไม่ได้ เวลากลืนน้ำเสียงดังก็ไม่ได้ เวลาเปิดประตูมีเสียงดังไม่ได้ เวลาตากผ้า เก็บผ้า พับผ้า ปูที่นั่ง ที่นอน ฯลฯ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องทำอย่างเป็นผู้มีวิชา มิฉะนั้น จะต้องถูกไล่หนีทั้งๆ กลางพรรษา แต่ถึงอย่างนั้นต้องอดทน พยายามใช้ความสังเกตของตน บางวันเมื่อฉันแล้ว จัดแจงเก็บบาตร เก็บจีวร ผ้าปูนั่ง ปูนอน กระโถน กาน้ำ หมอน ฯลฯ และทุกสิ่งทุกอย่างในห้องของท่าน ต้องเข้าไปจัดไว้ก่อน ท่านเข้าไปข้างใน จัดเสร็จแล้วก็จดจำไว้ในใจแล้วรีบกลับออกไปอยู่ในห้องของตน ซึ่งกั้นไว้ด้วยใบตองเจาะช่องฝาไว้พอมองเห็นบริขารในห้องของท่าน เมื่อท่านเข้าไปในห้องแล้ว เห็นท่านมองข้างล่าง ข้างบนตรวจตราดูบริขารของท่าน บางอย่างท่านก็หยิบย้ายที่ บางอย่างท่านก็ปล่อยวางที่เดิมไม่จับต้อง เราก็ต้องคอยมองดูแล้วจดจำเอาไว้ วันหลังก็ทำใหม่ จัดใหม่ให้ถูกต้องอย่างที่ท่านทำ ว่าท่านทำเองท่านทำอย่างไร เราก็จัดทำอย่างที่เรามองเห็น

ต่อมาวันหลังเมื่อเข้าไปจัดเสร็จแล้วก็กลับเข้าห้องของตน มองลอดช่องฝาสังเกตดูว่าเวลาท่านเข้าไปในห้อง เห็นท่านเข้าไปแล้วนั่งนิ่ง มองซ้ายมองขวา มองหน้ามองหลัง มองดูข้างบน ข้างล่าง แล้วก็ไม่จับต้องอะไรอีก ผ้าปูนอนก็ไม่กลับ แล้วท่านก็กราบพระสักครู่หนึ่งท่านก็จำวัด เมื่อเห็นเช่นนี้ เราก็ดีใจว่าได้ปฏิบัติเป็นที่ถูกอกถูกใจพระอาจารย์ นอกจากเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ในการนั่งสมาธิก็ดี เดินจงกรมก็ดี ก็ได้ฝึกหัดจากท่านไปจนเป็นที่พอใจทุกอย่าง แต่ก็เอาอย่างท่านได้อย่างมาก ๖๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

อยู่ต่อมาเมื่อออกพรรษาแล้ว ทางวัดบรมนิวาสได้จัดงานเพื่อฌาปนกิจศพเจ้าคุณอุบาลีฯ พระผู้ใหญ่ที่อยู่วัดเจดีย์หลวงได้ทยอยมาเพื่อช่วยงานเกือบหมด เจ้าอาวาสได้มอบให้พระอาจารย์มั่นเฝ้าวัดเจดีย์หลวง เมื่อเสร็จงานฌาปนกิจได้เห็นหนังสือฉบับหนึ่งมีถึงพระอาจารย์มั่น ตั้งให้ท่านเป็นอุปัชฌาย์ ท่านได้เปิดออกอ่านมีใจความว่า พระอาจารย์มั่น ขอให้ท่านรับเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง พร้อมทั้งตำแหน่งอุปัชฌาย์ สั่งให้เจ้าแก้วนวรัตน ณ เชียงใหม่เป็นผู้เเทนการ ขอให้พระอาจารย์มั่นทำหน้าที่แทนเจ้าอาวาสเดิมต่อไป สรุปได้ใจความสั้นๆ อย่างนี้ พอท่านได้ทราบเรื่องราวแล้ว ท่านก็เรียกไปหาแล้วพูดว่า เราต้องออกจากวัดเจดีย์หลวงไปอยู่ที่อื่น

No comments:

Post a Comment